เมื่อวันที่ 25-27
ตุลาคม พ.ศ.2562 นักศึกษาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (SEAS)
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ลงทะเบียน รายวิชา 412322 สารสนเทศท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรม จำนวน 15 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์
ชัยช่วย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ภาคสนามในสถาบันมรดกทางวัฒนธรรม GLAM (Gallery, Library, Archive
and Museum) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการรวบรวม
วิเคราะห์ นำเสนอ สารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมจากพื้นที่จริง
ในครั้งนี้ได้เข้าทัศนศึกษาแหล่ง
GLAM ในกรุงเทพมหานคร
4 แห่ง
คือ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ซึ่งสถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งมรดกความทรงจำแห่งชาติของประเทศ
เอกสารที่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติมีอายุตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงเอกสารร่วมสมัย ด้านประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย
ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชุดเอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกอีกด้วย
ทั้งนี้ผู้เรียนได้ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาเอกสาร
การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการ
รวมถึงการจัดระบบเอกสารเพื่อให้บริการด้านการค้นคว้าวิจัย
หอสมุดแห่งชาติ
เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวม จัดเก็บ
รักษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งเอกสารโบราณ ศิลปกรรม ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน
หนังสือโบราณ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ โสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
ทั้งนี้ผู้เรียนก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับวัตถุจัดแสดง มาตรฐานในการจัดการเอกสารต่างๆ
รูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ และขั้นตอนการให้บริการของหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงงานศิลปะที่มีนิทรรศการงานศิลป์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดปี โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตลอดจนศิลปินผู้อาวุโสที่ได้รับการยกย่อง ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่มีแนวคิดและจินตนาการที่สวยงาม รวมถึงเทคนิคการสร้างผลงานต่างๆ บางผลงานอาจดูไม่มีอะไรพิเศษแต่ก็แฝงไปด้วยปรัชญาทางความคิด นอกจากนี้ผู้เรียนยังได้เรียนรู้เทคนิคการจัดนิทรรศการ ซึ่งมีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์หลายอยู่หลายประการ
นางสาวธนัชญา คูยิ่งรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 กล่าวถึงการทัศนศึกษาครั้งนี้ว่า
"จากการได้ลงพื้นที่ทัศนศึกษานอกสถานที่เกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม รู้สึกประทับใจ สนุกสนาน และได้ความรู้เพิ่มเติมหลายอย่าง ในบางสถานที่ก็เพิ่งเคยเดินทางไปครั้งแรก ซึ่งมีความประทับใจ ทั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และที่ประทับใจสุดๆ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะมีสิ่งให้รับชมหลายอย่าง และช่วงเวลาที่ไปตรงกับช่วงที่มีการจัดแสดงนิทรรศการรูปปั้นจิ๋นซีฮ่องเต้จากประเทศจีนพอดี เลยรู้สึกประทับใจเป็นที่สุด การออกทริปในครั้งนี้ก็ถือเป็นการจัดการโดยนักศึกษาเองทั้งหมด เป็นการพิสูจน์ตัวเองในหลายๆ อย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกๆ ท่านที่คอยสนับสนุนการจัดทริปในครั้งนี้ รู้สึกประทับใจมากที่สุดเลยค่ะ"
นางสาวเกวลิน พรพงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่3 เปิดเผยว่า
“จากการที่ได้ไป field trip ครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ที่เกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังได้รับความรู้ที่มากขึ้นจากวิทยากรในแต่ละสถานที่ และยังทำให้ได้เปิดประสบการณ์เป็นอย่างมาก ถือเป็นการได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สนุกได้ความรู้และได้สัมผัสกับสถานที่จริง ประทับใจสุดๆไปเลย”
ความน่าสนใจของการเรียนรู้ภาคสนามในสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมครั้งนี้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมยิ่งขึ้น โบราณวัตถุแม้จะน้อยชิ้น แต่จะกลายเป็นชิ้นที่สำคัญเมื่อเห็นคุณค่าของความงามและความยิ่งใหญ่ ยิ่งได้เรียนรู้เทคนิคเชิงช่างในอดีต ก็ยิ่งเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ทั้งยังส่งต่อนำไปสู่การศึกษา สืบค้นในเชิงลึก ตลอดจนการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
ด้วยความร่วมมือของผู้เรียนที่ทำหน้าที่จัดการเดินทาง ประสานงาน และดำเนินงานด้วยตนเอง ทำให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วง แม้จะมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายภายในระยะเวลาอันจำกัด แต่การได้มาศึกษานอกห้องเรียนด้วยการออกไปสัมผัสพื้นที่จริง ได้ให้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่ผู้เรียน สามารถนำไปต่อยอดความรู้และประยุกต์ใช้กับการทำงานในชีวิตจริงและการทำงานในอนาคตได้
No comments:
Post a Comment