งานเสวนาและฉายภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Heartbound: a different kind of love story!

มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich-Boll-Stiftung) และ เดอะอีสานเรคคอร์ด ร่วมกับ ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง หลักสูตรสังคมวิทยา หลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา และหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดกิจกรรม : งานเสวนาและฉายภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Heartbound: a different kind of love story! ความรัก เงินตรา และหน้าที่ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ห้องประชุมเชียร์ HS02 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น.

การเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติในการดำเนินการเสวนาจากวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ ดร.ภานุ สุพพัตกุล และ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงมีคุณสมหมาย คำสิงห์นอก ซึ่งถือเป็นตัวหลักละครหลักในเรื่อง Heartbound มาร่วมในการเสวนา และการเข้าร่วมฟังการเสวนานี้ ทั้งคณะอาจารย์และนักศึกษา และบุคคลภายนอกเข้าร่วมจำนวนประมาณ 250 คน ได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Heartbound a different kind of love story ความรัก เงินตรา และหน้าที่ ซึ่งกำกับโดยยานูส เม็ทส์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวเดนมาร์ก และ ซิเน่ พลามเบค ผู้กำกับและนักวิจัยมานุษยวิทยาจากสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ


โดยเนื้อหาสาระของหนังภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการติดตามชีวิตคู่ของหญิงสาวชาวไทยที่แต่งงานกับชายชาวเดนมาร์กจำนวน 4 คู่ รวมถึงติดตามชีวิตของหญิงสาวไทยที่มีความต้องการที่จะได้แต่งงานกับชาวต่างชาติ เพื่อแสวงหาโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้กว่า 10 ปี ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์จะแสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวกับการมีความรัก การย้ายถิ่นฐาน และการดิ้นรนเพื่อแสวงหาโอกาสในชีวิตของหญิงสาวไทยในต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความจำเป็นในการแยกตัวออกจากดินแดนบ้านเกิด และไปร่วมกันก่อตั้งชุมชนหญิงสาวไทยในต่างประเทศขึ้นมา นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้ข้อคิดกับผู้ชม         ในประเด็นด้านการใช้ชีวิตว่า ถึงแม้การมีคู่ชีวิตเป็นชาวต่างชาติที่พร้อมจะช่วยเหลือเราจะเป็นสิ่งที่หญิงไทยหลายคนใฝ่ฝัน แต่ใช่ว่าทุกคู่จะสมหวัง และการมีชีวิตคู่กับชาวต่างชาติใช่ว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นเสมอไป  เพราะอาจจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความรับผิดชอบและหน้าที่ต่างๆ มากขึ้น

สรุปช่วงการเสวนาหัวข้อ “การแต่งงานข้ามแดน : ความรัก เงินตรา และหน้าที่”

หลังจากการชมภาพยนตร์ ลำดับต่อมาจะเป็นการเสวนาหัวข้อ “การแต่งงานข้ามแดน : ความรัก เงินตรา และหน้าที่” โดยมีท่านวิทยากรร่วมเสวนาทั้งหมด 3 ท่าน ได้แก่
1. คุณสมหมาย คำสิงห์นอก ตัวละครหลักของเรื่อง
2. ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ กรรมการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
3. ดร.ภาณุ สุพพัตกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
และดำเนินรายการโดย ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เริ่มแรกเป็นการสัมภาษณ์คุณสมหมาย คำสิงห์นอก เกี่ยวกับข้อคิดหลังจากการรับชมภาพยนตร์ซึ่งได้มีคำกล่าวฝากถึงทุกคนเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามแดนว่า “ก่อนทำอะไร จะไปไหน อยากให้ศึกษาหาข้อมูลดีๆ ก่อน เพราะบางครั้งอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด อาจจะเกิดความท้อ และเจออันตรายต่างๆ” ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนให้เรารู้จักมองในหลากหลายแง่มุมในการแต่งงานข้ามแดน ซึ่งไม่ได้มีแต่ความสุขสบายอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีเสมอ อีกทั้งยังพูดถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นครู ผู้ใหญ่ พี่เลี้ยง และจิตแพทย์ที่คอยให้คำแนะนำผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการหาโอกาสให้กับตัวเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากนั้นจึงอยากแบ่งปันหรือช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่อยากมีรายได้หาเลี้ยงครอบครัวของตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน และในการเสวนาครั้งนี้ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : เรื่องความรักโดยมีเงินและหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

คุณสมหมาย คำสิงห์นอก มีความคิดเห็นว่าในการแต่งงาน ”หน้าที่” มีความสำคัญมากกว่าความรักและเงินตรา เพราะความสัมพันธ์นี้ไม่อาจเรียกว่าความรักได้ แต่เรียกว่าเป็นความผูกพัน เพราะมันมากกว่าความรัก นอกจากนี้อาจารย์ พัชรินทร์ ลาภานันท์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความรักที่มากกว่าความโรแมนติก มันเป็นความผูกพัน โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนอาจารย์ ภานุ สุพพัตกุล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตามความเข้าใจในสมัยใหม่นั้น ความรักก็คือความโรแมนติก แต่หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คนแต่งงานกันเพราะการเมือง การสร้างอำนาจ การแลกเปลี่ยนบางอย่าง หรืออาจจะมีอะไรมากกว่าความโรแมนติกก็ได้ เพราะจากการรับชมภาพยนตร์นั้น มีฉากหนึ่งในหนังพูดว่า “ฟังไม่รู้เรื่องหรอก” นั้นหมายถึง คนสองคนมาจากต่างวัฒนธรรมและภาษา แต่กลับสามารถแต่งงานอยู่ร่วมกันได้ถึงแม้จะสื่อสารกันไม่เข้าใจบ้างในบางสถานการณ์

ประเด็นที่ 2 : เรื่องระบบสวัสดิการของต่างประเทศ

อาจารย์ ภานุ สุพพัตกุล มองว่าผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติ อาจเนื่องมาจากระบบสวัสดิการที่ดีกว่าประเทศของตน เช่น ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลฟรีหมด ซึ่งคุณสมหมาย คำสิงห์นอก ก็เห็นด้วยเช่นกันและกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่เพียงแต่มีการรักษาพยาบาลที่ฟรี แต่ยังมีระบบการศึกษาที่ดี และมีรถคอยรับส่งตลอดอีกด้วย ดังนั้น ระบบสวัสดิการจึงเป็นแรงจูงใจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงไทยหันไปแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 : เรื่องภาพเหมารวมของความสัมพันธ์ “การแต่งงงานข้ามแดน”

ในประเด็นนี้ อาจารย์ภานุ สุพพัตกุล ได้ไปลงพื้นที่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และพบว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีสวัสดิการที่ดี แต่ก็ยังมีการแต่งงานกับคนอเมริกันเกิดขึ้นอยู่ เนื่องมาจากภาพเหมารวมที่มองว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ อาจารย์พัชรินทร์ ลาภานันท์ ยังได้ขยายความเกี่ยวกับภาพเหมารวมอีกว่า เวลาลูกสาวส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านในประเทศไทย พ่อแม่จะคิดว่าเป็นเงินของสามีต่างชาติ จึงเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า การแต่งงานกับชาวต่างชาตินั้นจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติแล้ว ต้องหาโอกาสในการทำงานเอง ทำงานหนัก และต้องส่งเงินกลับมาหาพ่อแม่ด้วยตัวเอง ไม่ได้มีความสบายไปทุกอย่าง แต่เป็นการมองแบบภาพเหมารวมเท่านั้น

ท้ายที่สุด การเสวนาในหัวข้อภาพยนตร์ Heartbound : A Different Kind of Love Story ในครั้งนี้พยายามสื่อให้เห็นว่าการที่ผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบหลายอย่างที่ตามมา และไม่อยากให้มองผู้ที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้เป็นภาพเหมารวมถึงการมีชีวิตที่ดี ซึ่งในบางความสัมพันธ์ยังมีความซับซ้อนต่างๆทั้งด้านภาษาในการสื่อสาร วัฒนธรรม ฯลฯ รวมอยู่ด้วย




























No comments:

Post a Comment