นักศึกษา SEAS-KKU เข้าร่วมประชุมวิชาการว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6

ภาพกิจกรรมการละลายพฤติกรรม
เมื่อวันที่ 19-21 มกราคม 2561 ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ประชุมวิชาการว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 "Area Studies Conference" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ภายใต้หัวข้อ "วิพากษ์การศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากอดีต ปัจจุบัน ถึงอนาคต" และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของนักศึกษาทั้งหมด 5 หลักสูตรที่เข้าร่วม

มีตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจากมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และที่อื่นๆ อีก 4 แห่งเข้าร่วมงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

กิจกรรมในวันที่ 19 มกราคม 2561 เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป โดยในช่วงเช้าจะเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกันก่อน กิจกรรมดำเนินไปด้วยความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังได้สานสัมพันธ์กับตัวแทนจากทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานของแต่ละมหาวิทยาลัยได้รู้จักและสนิทกันมากขึ้น

ภาพนักศึกษา มข ในการถ่ายรูปให้เหมือนรูปปั้น เพื่อทำให้ Mission สำเร็จ
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาในบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 25-29 คน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้ไปคนละสถานที่ ด้วยยานพาหนะที่แตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มไปด้วยรถตุ๊กตุ๊ก บางกลุ่มไปด้วยเรือ หรือไปด้วยรถตู้ ซึ่งนอกจากจะได้ไปทัศนศึกษาแล้วแต่ละกลุ่มยังต้องทำภารกิจในแต่ละฐานนั้นๆ ด้วย

ตัวอย่างกลุ่มที่ไปโดยรถตู้ สถานที่แรกที่ได้ไปคือ วัดโพธิ์ โดยมีกิจกรรมเป็นฐานสำรวจสถานที่ โดยให้คนในกลุ่มหารูปปั้นและถ่ายรูปให้เหมือนรูปปั้นนั้นมากที่สุด เป็นต้น

ถ่ายภาพอย่างไรให้เห็นเสาชิงช้า
สถานที่ต่อมา คือ การนั่งเรือข้ามฝั่งไปที่ชุมชนกุฎีจีน มีกิจกรรมที่ยากขึ้นไปอีก คือ การตามหาคำใบ้ภายในสถานที่แล้วนำมารวมกันเพื่อที่จะได้ทำกิจกรรมตามคำใบ้นั้น สถานที่สุดท้าย คือ บริเวณหน้าเสาชิงช้า มีกิจกรรมโดยให้สมาชิกภายในกลุ่มทำร่วมกัน คือ การถ่ายรูปกลุ่มตามท่าทางที่กำหนดให้ แต่มีข้อบังคับ คือ ต้องเห็นเสาชิงช้าหมดทุกส่วน

หลังจากที่ทุกกลุ่มทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ก็เดินทางกลับมหาวิทยาลัยเพื่อพักผ่อนและทานอาหาเย็น

สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของวันแรก คือ การประกวดดาว เดือน และ ดิน จากตัวแทนของทุกมหาวิทยาลัย โดยทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่ง ดาว เดือน และดิน ดังนี้           
1. ดาว คือ นางสาววรรัชต์ โพนะทา(โบว์) นศ.ปี 1
2. เดือน คือ นายชนภัทร ใชยเม็ง(หมู) นศ.ปี 1
3. ดิน คือ นายธฤต โชติกานต์กุล(ฝ้าย) นศ.ปี 1
ภาพผู้เข้าประกวดดาว เดือน ดิน ของนศ.มข. ที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
การพูดสุนทรพจน์ของน้องฝ้าย
โดยนางสาววรรัชต์ โพนะทา(โบว์) และนายชนภัทร ใชยเม็ง(หมู) ได้ทำแสดงการโชว์เต้นบาสโลบ ซึ่งจุดประสงค์ของการแสดงโชว์ คือ การนำวัฒนธรรมอีสานมาเผยแพร่สู่คนภายนอกให้เข้าใจความเป็นอีสานมากขึ้น ต่อมาเป็นการประกวดดิน ของนายธฤต โชติกานต์กุล(ฝ้าย) ที่ได้แสดงความสามารถพิเศษ คือ การพูดสุนทรพจน์ ในหัวข้อ การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย โดยมีเนื้อหา คือต้องการให้คนไทยในปัจจุบันและรุ่นถัดไปอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ ถึงแม้ว่าจะกำลังเผชิญอยู่กับยุคโลกาภิวัตน์ก็ตาม ซึ่งการพูดสุนทรพจน์ของน้องฝ้ายนั้นก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว

เมื่อการประกวดทั้งหมดเสร็จสิ้นผลปรากฏว่า นายชนภัทร ใชยเม็ง(หมู) น.ศ.ปี 1 ได้เข้ารอบ 3 คนสุดท้ายในการประกวดเดือน ส่วนนางสาววรรัชต์ โพนะทา(โบว์) นศ.ปี 1 และนายธฤต โชติกานต์กุล(ฝ้าย) ถึงจะไม่เข้ารอบสุดท้ายแต่ถือว่าทำเต็มที่ที่สุดแล้ว

กิจกรรมในวันที่ 20 มกราคม 2561 เป็นวันเสวนาวิชาการในหัวข้อ"วิพากษ์การศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยตัวแทนของแต่ละมหาวิทยาลัย ดังนี้                                                 

1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ บทบาทของอาเซียนต่อการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคกรณีศึกษา ASEAN WORKPLAN ON EDUCATION 2011-2015 และแนวทางในอนาคต (2016-2020) บทความนี้ได้ศึกษาถึงบทบาทของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการพัฒนาการศึกษาภายในภูมิภาค ผ่านแผนพัฒนา 5 ปีอาเซียน โดยเปรียบเทียบแผนงานระหว่างปี 2011-2015 ในการศึกษา และกำลังดำเนินการศึกษาแผนงานในปี 2016-2020

2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ วัฒนธรรมรูปแบบไทยที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา บทความนี้ได้ศึกษาถึง ค่านิยมแบบไทยส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา ได้แก่ การชี้นำทางด้านความคิดและค่านิยมระบบอุปถัมภ์

3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ ทบทวนความรู้งานเขียนเกี่ยวกับ "การศึกษา" ของลาวและเวียดนามในประเทศไทย ระหว่างปี 2542-2559 บทความนี้ได้ศึกษาถึงการสำรวจงานเขียน งานวิจัย หนังสือ วิทยานิพนธ์ บทความและอื่นๆ เกี่ยวกับการศึกษาของลาวและเวียดนามในประเทศไทย  โดยใช้วิธีการศึกษาทั่วไป คือ การค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ทั้งทางออนไลน์และทรัพยากรห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหลัก

4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในหัวข้อ บทบาทของการศึกษาระดับสามัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเวียดนาม บทความนี้ได้ศึกษาถึงบทบาทของการศึกษาระดับสามัญภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปี ค.ศ. 1975 ในบทความเสนอว่าระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาควบคู่กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และการดำเนินโยบายปฎิรูป (Doi Moi) ในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญของเวียดนาม

5. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ ภาพรวมของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตสำนักอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และความโดดเด่นของหลักสูตร บทความนี้ได้ศึกษาถึงการนำเสนอถึงภาพโดยรวมของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สำนักอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งอธิบายประวัติหลักสูตร  ศิลปศาสตร์บัณฑิต จุดเด่นของกระบวนการสอน และข้อจำกัดในหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สำนักอาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ภาพการนำเสนองานประชุมวิชาการของ นศ. มข ที่ธรรมศาสาตร์ท่าพระจันทร์
แต่เมื่อถึงการนำเสนอบทความของมหาวิทยาลัยสุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในขณะที่ตัวแทนกำลังนำเสนอบทความวิชาการนั้นได้เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนการนำเสนอบทความออกไปเป็นวันที่ 21 มกราคม 2561 ในช่วงเช้าแทน หลังจากการนำเสนอบทความเสร็จสิ้นจากตัวแทนทั้ง 4 มหาวิทยาลัยแล้ว ในช่วงค่ำทางเจ้าภาพได้จัดงานเลี้ยงให้แก่ตัวแทนจากทุกมหาวิทยาลัย ภายในงานมีการแสดงต่างๆ ให้รับชม กล่าวได้ว่าภายในช่วงค่ำของวันนั้นมีแต่ความสนุกสนานความรื่นเริงตลอดงาน

นศ.มข.ร่วมรับประทานอาหารเย็นที่บริเวณด้านหน้าคณะ ศิลปศาสตร์ มธ.

กิจกรรมในวันที่ 21 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน เป็นพิธีกล่าวอำลาที่ทางเจ้าภาพกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงานทุกคน หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำเสนอบทความ ในหัวข้อ ภาพรวมของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตสำนักอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และความโดดเด่นของหลักสูตร ไปแล้ว ซึ่งก่อนที่จะปิดงานประชุมวิชาการนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยก็ได้นำของที่ระลึกมามอบให้แก่กัน เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะแยกย้ายเดินทางกลับสู่มหาวิทยาลัยของตน

สำหรับงานประชุมวิชาการว่าด้วยภูมิภาคภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 7 "Area Studies Conference" ในปีหน้านั้น มีกำหนดการจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนวันเวลาที่แน่นอนยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ต้องรอประกาศจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป

สำหรับความประทับใจจากการเข้าร่วมการประชุมวิชาการ คือ การที่เห็นความสามัคคี การร่วมกันเป็นเครือข่ายเดียวกันในนามของ Area Studies จากการที่รวมกลุ่มกันแบบนี้ทุกๆ ปี ทำให้นักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดของตนมาเล่าสู่นักศึกษาคนอื่นๆให้เป็นข้อคิด เป็นประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้อีกหนึ่งความประทับใจ คือ การได้เปิดโลกทัศน์ รับฟังข่าวสารข้อมูลดีๆ จากแต่ละบทความที่แต่ละมหาวิทยาลัยนำมาเสนอ รวมทั้งเนื้อหาวิชาการและแนวคิดดีๆ จาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จากทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนวิชาของสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่มากก็น้อย

ตัวแทนจากทุกมหาวิทยาลัยร่วมกันถ่ายภาพก่อนแยกย้าย
ตัวแทนนศ.มข ถ่ายรูปหมู่
การรับธง ถือว่าเป็นการรับเป็นเจ้าภาพต่อจากมธ.ในปีหน้า

ข่าว : นายพีรพล จ่าเคน 
นางสาวมสฤณา ชัยชมพู และ
นางสาวศรัณย์พร อึ้งวนารัชต์

ภาพ : นางสาวนฤมล ศิริมา 
นางสาวรุ้งไพริน เชิมชัยภูมิ และ
นางสาวสิริปรียา กันตะปีติ

No comments:

Post a Comment