|
นักศึกษาและอาจารย์ประจำวิชาร่วมกันถ่ายภาพที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ |
วันที่ 26-27 มีนาคม พ.ศ. 2562 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์และชมนิทรรศการที่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดนิทรรศการ และการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายและน่าสนใจ สำหรับนักศึกษาในรายวิชา 428 332 การเขียนและผลิตสารคดีทางประวัติศาสตร์ มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 26 คน โดยมี ดร.จิราธร ชาติศิริ อาจารย์ประจำวิชาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ดังกล่าวใช้เวลาสองวัน โดยเข้าชมแหล่งเรียนรู้ที่มีความสำคัญและมีความโดดเด่นแตกต่างกัน 4 แห่งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ได้แก่ นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" ที่หอสมุดแห่งชาติ นิทรรศการ ถอดรหัสความเป็นไทย ที่มิวเซียมสยาม (Museum Siam) นิทรรศการวังหน้านฤมิตฯ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
เข้าหอสมุดแห่งชาติ ชมนิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ"
|
หนังสือที่ถูกตกแต่งและจัดแสดงในตู้กระจก นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" |
นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" จัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 28 เมษายน ณ ห้องวชิรญาณ 2 ภายในตึกหลักของหอสมุดแห่งชาติ สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยการแลกบัตรประชาชนบริเวณทางเข้าด้านหน้าหอสมุด ภายในห้องนิทรรศการมีแสงไฟสลัว ส่วนหน้ามีตู้หนังสือเก่าที่บรรจุหนังสือมากมายไว้ และมีเก้าอี้ทรงวินเทจสองตัววางอยู่ด้านหน้า ถัดเข้ามาด้านในมีตู้กระจกจัดแสดงหนังสือที่ผ่านการตกแต่งและถูกจัดแสดงไว้อย่างสวยงาม ตรงกลางมีโต๊ะไม้ยาวและเก้าอี้ไม้แปดที่นั่งสำหรับนั่งอ่านหนังสือเล่มเล็ก ปกสีแดง ซึ่งมีเชือกพันธนาการไว้กับโต๊ะไม้ ด้านหลังมีตู้ลิ้นชักไม้ ชวนให้สงสัยว่าภายในช่องแต่ละช่องบรรจุอะไรไว้บ้าง
|
นักศึกษากำลังอ่านเรื่องสั้นในหนังสือปกสีแดง ที่นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" |
หากเรามองเพียงองค์ประกอบทั้งหมดภายในห้องนี้ คงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้จัดงานกำลังสื่อสารกับผู้เข้าชมได้ แต่ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มสีแดงสดที่วางอยู่บนโต๊ะ เรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงอย่างประณีต ถ่ายทอดผ่านข้อความที่สละสลวยและบรรจงอย่างละเมียดละไมของผู้เขียน จะทำให้เราเข้าใจคอนเซ็ปต์หลักของงานและรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการสำรวจองค์ประกอบแต่ละชิ้นในนิทรรศการมากขึ้น ทั้งยัง ทำให้นักศึกษาบางคนอยากเดินขึ้นไปสำรวจห้องสมุดชั้นบน เพื่อหาหนังสือสักดีๆ สักเล่มมานั่งอ่านและตกหลุมรักงานเขียนชิ้นนั้น
มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ถอดรหัสความเป็นไทย อย่างไรคือไทยแท้
|
ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในนิทรรศการถอดรหัสความเป็นไทย มิวเซียมสยาม (Museum Siam) |
มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 10:00-18:00 น. ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย 100 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท นักเรียนนักศึกษาลด 50% เด็ก ผู้สูงอายุ พระภิกษุ ผู้ทุพพลภาพ และมัคคุเทศก์เข้าชมฟรี ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการชุด ถอดรหัสความเป็นไทย โดยใช้ห้องนิทรรศการ 14 ห้อง นิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ โดยใช้สื่อหลากหลายประเภท ทั้งภาพถ่าย เครื่องแต่งกาย เครื่องเล่น และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อสื่อถึงความเป็นไทยแบบร่วมสมัย อาทิ พัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ อาหารการกิน การละเล่น และเครื่องแต่งกาย ซึ่งการจัดแสดงดังกล่าวถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาได้อย่างน่าสนใจและสื่อสารผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
|
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่จัดแสดงในมิวเซียมสยาม (Museum Siam) |
ความเป็นไทยคืออะไร อย่างถึงเรียกว่าไทยแท้ หลายคนคงมองความเป็นไทยเพียงวัฒนธรรมดั้งเดิม แบบจารีตที่ดูเก่าแก่โบราณ แต่ในทางตรงกันข้ามความเป็นไทยอาจแฝงตัวอยู่ในวิถีชีวิต กิจกรรมต่างๆ ที่เราพบเห็นจนชินตา โดยที่เราอาจจะไม่ได้คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โบราณงามตา สะท้อนคุณค่าอย่างมีสไตล์
|
อาคารที่ใช้จัดแสดงประติมากรรมรูปเคารพของอารยธรรมสมัยต่างๆ ในไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ตรงข้ามกับสนามหลวง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นวังหน้าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้อาคารแต่ละหลังมีความวิจิตรงดงาม และเมื่อถูกใช้จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ยิ่งดูมีเสน่ห์และมีมนต์ขลังอย่างบอกไม่ถูก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อาคารแต่ละหลังจัดแสดงโบราณวัตถุ ซึ่งรวบรวมจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ จากทั่วประเทศและข้าวของเครื่องใช้ในรั้วในวัง โดยจำแนกประเภทและจัดแสดงตามลำดับยุคสมัย เช่น ประติมากรรมรูปเคารพ อาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น โดยมีป้ายให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโบราณวัตถุแก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม การจัดแสดงของส่วนพิพิธภัณฑ์ เป็นการจัดวางแบบทั่วไป ไม่ได้มีการใช้สื่อผสมเพื่อดึงดูดความสนใจหรือมีรูปแบบที่สร้างความแปลกใหม่ผู้ชมแต่อย่างใด แต่โบราณวัตถุที่จัดแสดงต่างเป็นของที่หาดูได้อยากและทรงคุณค่ามากจึงทำให้ผู้คนที่เดินผ่านมาต้องพินิจดูอย่างถี่ถ้วน
|
ภาพจากนิทรรศการวังหน้านฤมิตฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ในส่วนที่เป็นนิทรรศการ วังหน้านฤมิตฯ เป็นการจัดแสดงที่จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อบอกเล่าความสำคัญของวังหน้า โดยใช้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาถ่ายทอดในรูปแบบนิทรรศการ โดยมีศิลปินจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้ง เชฟ นักร้องประสานเสียง ศิลปิน กวี นักพฤกษศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ และสถาปนิก มาถ่ายทอดมุมมองและการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ่านชิ้นงานหลากหลายรูปแบบ สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชม โดยมีวิทยากรทำหน้าที่อธิบายความหมายของชิ้นงาน เนื่องจากชิ้นงานบางชิ้นต้องอาศัยการตีความที่ค่อนข้างแยบยล ซึ่งผู้ชมอาจไม่สามารถเข้าใจได้หากใช้สายตาพินิจเพียงอย่างเดียว
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ บางกอกเคยเป็นอย่างไร ล่วงรู้ได้ผ่านนิทรรศการ
|
ป้ายบริเวณทางเข้านิทรรศรัตนโกสินทร์ |
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้กับวัดราชนัดดารามวรวิหารและอยู่ไม่ไกลจากวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.20-17.00 น. การเข้าชมนิทรรศการมีสองเส้นทาง ใช้เวลาเส้นทางละ 1-2 ชั่วโมง หากชมทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถคอยให้ข้อมูลอย่างฉะฉานในแต่ละจุด ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 100 บาท/คน เด็ก พระภิกษุ ผู้พิการ และผู้สูงอายุเข้าชมฟรี
นิทรรศการภายในจัดขึ้นเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และสะท้อนความสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างอาณาจักร สถานการณ์และการเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลาต่างๆ จวบจนกระทั่งกลายเป็นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน นิทรรศการของที่นี่มีความโดดเด่นและความน่าสนใจตรงที่ มีการจัดแสดงด้วยสื่อผสมที่ทันสมัย รูปแบบสี่มิติที่มีทั้ง ภาพ เสียง หุ่นจำลอง ตลอดจนการจัดฉากที่สมจริงในแต่ละห้องนิทรรศการ ประกอบกับลำดับจัดแสดงมีความต่อเนื่องลื่นไหลสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทั้งยัง มีกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมกับการจัดแสดง ซึ่งสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินและความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
|
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เมื่อมองจากจุดชมวิวชั้นสาม นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ |
เนื่องจากอาคารจัดแสดงตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญและสวยงาม อาทิ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ ทำให้เมื่อขึ้นไปยังจุดชมวิวชั้นสาม เราจึงได้เห็นทัศนียภาพที่งดงามบริเวณย่านกรุงเก่าที่ถูกแซมด้วยอาคารบ้านเรือนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีความร่วมสมัยและสอดผสานกันอย่างลงตัวกับของเดิม
แม้จะมีระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่สองวัน แต่การไปทัศนศึกษาครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าและได้ประสบการณ์เต็มเปี่ยม นอกเหนือจากความรู้ที่นักศึกษาได้รับจากการเข้าเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ที่มีการใช้แนวคิด สื่อผสมที่หลากหลาย ใช้การตีความเข้ามาสอดแทรก รวมทั้งการจัดแสดงให้เข้ากับยุคสมัยและดึงดูดความสนใจจากผู้ชม ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา เพื่อนำมาต่อยอดในการจัดนิทรรศการในรายวิชา 428 332 การเขียนและผลิตสารคดีทางประวัติศาสตร์ ในนามของตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณความอนุเคราะห์จากแหล่งเรียนรู้ทุกสถานที่ ที่ได้จัดนิทรรศการดีๆ แบบนี้ขึ้น รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากวิทยากรทุกท่าน และที่ขาดไม่ได้คือ อาจารย์ ดร. จิราธร ชาติศิริ อาจารย์ประจำวิชาและผู้ดำเนินงานในกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งล้วนมีส่วนในการรังสรรค์ประสบการณ์ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วม
|
ฉากของนิทรรศการที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ |
|
นักศึกษาสวมชุดไทย ที่มิวเซียมสยาม (Museum Siam) |
|
ส่องหาความรักในตู้ลิ้นชักไม้ที่นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" |
|
กิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ |
|
สอดส่องความรักในลิ้นชักไม้ ที่นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" |
|
หนังสือที่ถูกตกแต่งและจัดแสดงในตู้กระจกที่นิทรรศการ "ศิลปิน ผู้ตกหลุมรัก หนังสือ" |
|
หุ่นจำลองจ่าโขลน ที่นิทรรศน์รัตนโกสิทร์ |
|
ศัสตราวุธที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
|
นิทรรศการที่จัดแสดงในมิวเซียมสยาม (Museum Siam) |
|
ทัศนียภาพเจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ เมื่อมองจากจุดชมวิวชั้นสาม ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ |
|
ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในนิทรรศการถอดรหัสความเป็นไทย ที่มิวเซียมสยาม (Museum Siam) |
|
ประติมากรรมรูปเคารพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
|
ตำหนักแดง ปัจจุบันถูกใช้เป็นอาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
|
ภาพวาด จันทรา จัดแสดงที่นิทรรศน์รัตนโกสิทร์ |
No comments:
Post a Comment