รายงานโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์
ภาพโดย กฤษณะ เวทีวุฒาจารย์
กิจกรรมเริ่มขึ้นเวลา 13.30 น. โดย ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง กล่าวเปิดและรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และแขกผู้มีเกียรติมอบของที่ระลึกให้กับรองศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ต่อมาเวลา 13.40-14.20 น. ปาฐกถาพิเศษโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เรื่อง “การศึกษาประวัติศาสตร์สังคมลุ่มน้ำโขงและแนวโน้มในอนาคตผ่านมุมมองของ รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์” โดยมีแบ่งนำเสนอเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ เหลียวหลังงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน งานวิจัยเกี่ยวกับ “อีสาน” และแลหน้าและส่งท้าย
ซึ่งในประเด็นแรกเหลียวหลังงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในไทย แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่งานวิจัยเกี่ยวกับลาว เวียดนาม ลุ่มน้ำโขงศึกษา โดยอาจารย์ได้กล่าวการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษางานวิจัยในแต่ละประเทศ แต่ละช่วงปีต่างๆ ว่ามีการศึกษาในเรื่องใดไปแล้วบ้าง และทำให้ทราบถึงประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่ได้ถูกศึกษาซึ่งทำให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลาว เวียดนาม ลุ่มน้ำโขงศึกษา และจะสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานวิจัยทางด้านลุ่มน้ำโขงศึกษาต่อไปได้ในอนาคต
ต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทาง “ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ในปี 2545 เพื่อรวบรวมและศึกษาในเรื่องต่างๆในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ต่อมาก็เกิดการรวมกลุ่มเฉพาะทางจึงทำให้เกิด “หลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ในปี 2550 ซึ่งในหลักสูตรลุ่มน้ำโขงได้ทำวิทยานิพนธ์ศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในด้านต่างๆ เช่น ด้านประวัติศาสตร์ ด้านปฏิบัติการ ด้านแรงงานข้ามชาติ ด้านชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ ด้านชายแดน เป็นต้น ซึ่งวิทยานิพนธ์เหล่านี้ช่วยเปิดมุมมองและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับสังคมไทย และความสำเร็จของหลักสูตรนี้เกิดขึ้นได้โดยการที่มีอาจารย์ที่หลากหลาย ร่วมด้วยช่วยกันบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
ประเด็นต่อมา งานวิจัยเกี่ยวกับ“อีสาน” แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ อีสานระดับมหภาค อีสานกับวิธีวิทยาที่หลากหลาย และงานศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในอีสาน ซึ่งอาจารย์ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยว่า “ถ้าเราจับจุดถูกก็จะทำให้ศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกจุด” และพูดถึงในประเด็นต่างๆ ที่ยังขาดการศึกษาและสามารถต่อยอดได้ในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับอีสาน อีกทั้งยังเห็นถึงพัฒนาการในการศึกษาเกี่ยวกับอีสาน
ประเด็นสุดท้าย แลไปข้างหน้า บริบทโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป จีนเข้ามามีบทบาทในบริบทโลกมากขึ้น เช่น การทำเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ใน ปี พ.ศ. 2583 และความท้ายของมหาวิทยาลัยในไทย เพราะมีนักศึกษาที่น้อยลง หลักสูตรจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่สังคมไทยต่อไป
หนังสือ “ความสัมพันธ์ทางการเมืองลาว-เวียดนาม ค.ศ.1353-1975” วิพากษ์โดย ศาสตราจารย์ สุวิทย์ ธีรศาศวัส โดยหนังสือเล่มนี้นั้นมีการใช้วิธีวิจัยเอกสาร โดยเอกสารที่มาใช้นั้นไม่มีใครเคยใช้มากก่อน และมีการวิเคราะห์ที่เยี่ยมมาก เพราะใช้หลักฐานชั้นต้นทั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และลาว กับบันทึกของนักรบลาวช่วงทำสงครามกับฝรั่งเศสและสหรัฐ และหลักฐานไทย ทำให้งานวิจัยนี้น่าเชื่อถือ
ที่น่าสนใจคือเอกสารกุ่ยเหิบเป็นบันทึกของนายด่านเวียดนามที่ต่อเขตลาว นายด่านตรงนี้สืบตำแหน่งในตระกูลเดียวกันถึง260ปี(ค.ศ.1619-1880) ทำให้เราทราบระบบป้องกันประเทศของเวียดนาม การเก็บภาษี การปกครองของเวียดนามเมือ400ปีก่อน โดยแบ่งเนื้อหาเป็นไปตามลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทำให้เห็นว่าอดีตนั้นคลี่คลายปัจจุบันให้รู้ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ในด้านเนื้อหา ปัจจัยทางภูมิศาสตร์นั้น ลาวเป็นประเทศที่น่าสนใจเพราะเป็นประเทศที่เล็ก อยู่รอดจากประเทศมหาอำนาจ หลังจากนั้นก็กล่าวถึงเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยในหนังสือ เช่น การขอขนช้าง เป็นต้น
หนังสือ “ผู้หญิงในประวัติศาสตร์สังคมสยาม การเมือง การแต่งงาน และการค้ามนุษย์ข้ามชาติ” วิพากษ์โดย อาจารย์ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ จาก 3 บทความในหนังสือนั้นช่วยเปิดมุมมอง เปิดความคิด ที่ชวนให้สำรวจ ตรวจสอบ และทำความเข้าใจ พัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง ซึ่งไม่ได้ถูกตัดขาดจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมในมิติ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะบทบาทผู้หญิงในงานประวัติศาสตร์ด้านการเมือง โดยยกตัวอย่างกรณี ท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นต้น
และกิจกรรมสุดท้ายของวันนี้คือ กิจกรรม “โสเหล่รวมพล คนรักอาจารย์หญิง” โดยมีผู้แลกเปลี่ยนซึ่งเป็นคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับอาจารย์ดารารัตน์เป็นอย่างดี โดยมีผู้แลกเปลี่ยน 8 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ผ.ศ.ดร.เยาวลักษณ์ อภิชาตวัลลภ รศ.ดร.มณีมัย ทองอยู่ ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ อาจารย์ ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง ผศ.ดร.เบญจวรรณ นาราสัจจ์ นายภมร ภูผิวผา และนายกิตติศักดิ์ ชิณแสง ซึ่งกิจกรรมนี้ได้บอกเล่าความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ดารารัตน์ และได้รู้จักตัวตนของอาจารย์ดารารัตน์ในอีกมุมหนึ่งที่หลายๆ คนยังไม่เคยรู้มาก่อน อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างอาจารย์ด้วยกัน ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน
การเข้าร่วมในโครงการนี้ทำให้ได้เปิดมุมมองด้านประวัติศาสตร์ที่มากขึ้น อีกทั้งยังได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่จะสามารถนำไปใช้เป็นประเด็นในการศึกษาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต และยังได้เห็นพัฒนาการของการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลุ่มน้ำโขงศึกษาในด้านต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนผ่านประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำของอาจารย์แม่ของพวกเรา และยังได้รู้จักตัวตนในอีกมุมหนึ่งของท่าน “36 ปีสตรีแห่งประวัติศาสตร์” รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ซึ่งสะท้อนจากบุคคลรอบข้างของท่าน ทั้งเพื่อนอาจารย์ ศิษย์เก่า และลูกศิษย์ปัจจุบันที่เป็นภาพประทับใจไม่มีวันลืม
No comments:
Post a Comment