SEAS-KKU สำรวจศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารพิษณุโลก

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คณะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา พร้อมด้วยอาจารย์เวียงคำ ชวนอุดม อาจารย์ประจำรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย ในโครงการสำรวจศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในอารยธรรมสุโขทัย (ในระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563) ได้ออกเดินทางจากจังหวัดสุโขทัยไปสำรวจโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดกำแพงเพชร คือ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ห่างจากจังหวัดสุโขทัยประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร ลักษณะของศิลปกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งมีทั้งประติมากรรมและโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่โตมากมาย

รายงานโดย 
อินทิรา มนตรี

“รายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาในด้านการสำรวจข้อมูลภาคสนาม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิหลังทาง ประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน และมีความสามารถในการเขียนเชิงประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว สามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ และงานวิจัย รวมทั้งเพื่อเป็นการสั่งสมประสบการณ์และผลงานเพื่อต่อยอดในการเรียนและการฝึกงานในอนาคต”
หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการ สำรวจศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในอารยธรรมสุโขทัย ในระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีอาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 25 คน เพื่อสำรวจศึกษา เก็บข้อมูลภาคสนาม และจัดทำคลิปประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในอารยธรรมสุโขทัย รวมทั้งยังเป็นการฝึกฝนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

โบราณสถานที่คณะเราได้สำรวจในวันนี้ประกอบด้วยวัดสำคัญในเขตอรัญญิกจำนวน 3 วัด วัดแรกคือ วัดพระสี่อิริยาบถ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้ประกอบด้วยวิหารที่มีฐานศิลาแลง ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลงเหลี่ยมและมีทับหลังลูกกรงเตี้ยอยู่โดยรอบ ด้านหลังวิหารทางทิศตะวันตกเป็นวิหารพระอิริยาบถที่เป็นเจดีย์ประธานของวัดมีลักษณะเป็นวิหารจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแกนสี่เหลี่ยมรองรับส่วนยอดซึ่งเป็นหลังคาแต่ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว แต่ละด้านของวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้แก่ 
ทิศตะวันออกพระพุทธรูปประทับเดินหรืออิริยาบถลีลา 
ทิศตะวันตกพระพุทธรูปประทับยืนซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด 
ทิศเหนือพระพุทธรูปประทับนอน และทิศใต้พระพุทธรูปประทับนั่ง พระพุทธทั้งสี่องค์นี้มีรูปแบบศิลปะสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร 

จากวัดพระสี่อิริยาบถ เราได้เดินเท้าต่อไปยัง วัดสิงห์ ส่วนหน้าของวัดสิงห์จะเป็นอุโบสถที่มีฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยทำฐานซ้อนกันสองชั้น ฐานชั้นล่างก่อเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ชานชาลาด้านหน้าพบสิงห์ปูนปั้นและทวารบาล ที่มีแกนในเป็นศิลาแลง มีแท่นใบเสมาโดยรอบจำนวนแปดแท่น จึงทำให้ทราบว่าเป็นอุโบสถ

ในส่วนถัดไปตัวเจดีย์ประธาน ซึ่งเหลือฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและฐานหน้าสี่เหลี่ยม ตอนล่างทำเป็นซุ้มพระยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐ มีการสันนิษฐานว่ารูปทรงเดิมของเจดีย์ประธานวัดสิงห์ เป็นเจดีย์ระฆังฐานสี่เหลี่ยมที่มีการเพิ่มฐานสี่เหลี่ยมให้ซ้อนลดหลั่งกันหลายชั้น


และสถานที่สุดท้ายภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร คือ วัดช้างรอบ เป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินที่สูงที่สุดในเขตอรัญญิก กลางวัดมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ เป้นรูปแบบเจดีย์ช้างล้อมคล้ายศรีสัชนาลัย แต่ปรากฏเพียงครึ่งตัวและเป็นช้างทรงเครื่อง

ส่วนฐานเจดีย์อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะเห็นฐานเป็นรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัว หันศีรษะออกจากฐานรอบเจดีย์ จำนวน 68 เชือก ช้างแต่ละตัวทรงเครื่องที่มีเครื่องประดับที่แผงคอ กำไล โคนขาและข้อขา พื้นที่ว่างระหว่างตัวช้างมีลายปูนปั้นเป็นรูปต้นไม้และสัตว์ป่าซึ่งหมายถึงป่าหิมพานต์ ทั้งสี่ด้านของเจดีย์ประธานมีบันไดทางขึ้นไปฐานเจดีย์ เชิงบันไดมีรูปปั้นยักษ์และสิงห์ ส่วนเจดีย์บนฐานตามข้อมูลของกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังแต่ส่วนยอดได้พังทลายลงเกือบหมดแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยังคงความงดงามและยิ่งใหญ่ไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้รำลึกถึงความรุ่งเรืองในอดีต


เมื่อสำรวจวัดสำคัญทั้งสามแล้ว เวลา 10.30 น. คณะได้เดินทางออกจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป

ก่อนเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น เราได้แวะจังหวัดพิษณุโลกเพื่อสักการะ พระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งมีผู้คนสักการะไม่ขาดสายยาวนานต่อเนื่องกว่า 700 ปี พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ พระวรกายสมส่วน พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน มีซุ้มเรือนแก้วไม้แกะสลักที่เป็นกรอบรอยพระวรกาย สร้างขึ้นสมัยอยุธยา ช่วยเพิ่มความงดงามโดดเด่นมากยิ่งขึ้น


โดยภายในวัดยังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย เช่น 
พระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โบราณสถานสมัยสุโขทัย
พระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ เดิมบริเวณนี้เป็นวิหารใหญ่
วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งหาดูได้ยาก มีเฉพาะที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น


นอกจากนี้ด้านหน้าทางเข้ายังมีโซนร้านค้าขายของฝาก ของที่ระลึกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยตากอบธรรมชาติ ผลไม้อบแห้งอื่น ๆ สมุนไพรนานาชนิดและพระเครื่องให้เลือกซื้อเลือกหากันได้ตามอัธยาศัย


สำหรับการเดินทางตลอด 3 วัน ในการสำรวจแหล่งโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก ทำให้พวกเราได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ได้รับความรู้นอกห้องเรียนจากแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ พร้อมกับการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในจังหวัดสุโขทัยที่มีความเรียบง่าย ทั้งนี้ทุก ๆ การเดินทางสอนให้พวกเรารู้จักเติบโต คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี



No comments:

Post a Comment