SEAS-KKU ศึกษาเทคนิคและวิธีการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร


ภาพถ่ายโดย อ.ดร.จิราธร ชาติศิริ
นักศึกษาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 17 คน พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ คือ อาจารย์ ดร.จิราธร ชาติศิริ ได้เดินทางไปศึกษาเทคนิคและวิธีการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น สำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนใน รายวิชา 428 332 การเขียนและผลิตสารคดีทางประวัติศาสตร์


กิจกรรมนี้เป็นการทัศนศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการไปเยือนเป็นครั้งแรกของนักศึกษาส่วนใหญ่ และเน้นการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางเป็นหลัก ซึ่งได้ทั้งเนื้อหาสาระ ไอเดียในการนำเสนองานในรูปแบบที่หลากหลาย และความสนุกจากการการเดินทางที่ไม่น่าเบื่อ โดยสถานที่น่าสนใจที่ได้เข้าชมมี  4 แห่ง ได้แก่
  1. มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
  2. เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020)
  3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และพระราชวังบวรสถานมงคล
  4. นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
การทัศนศึกษาในครั้งนี้ได้จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้เทคนิคและวิธีการในเสนอข้อมูล ผ่านสื่อที่หลากหลายและสร้างสรรค์ และสถานที่ที่ได้ไปเยือนเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาทุกคนให้ได้รับไอเดียความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพในการเรียนและการทำงานด้านนี้ของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 

คณะได้เดินทางไปยังสถานที่แห่งแรกคือ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ภายในพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดงผลงานต่าง ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ถอดรหัสไทย” ที่มุ่งนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งสิ่งของที่นำมาแสดงนั้น ไม่ใช่วัตถุโบราณที่มาจากการขุดค้นพบ และนำมาจัดแสดงในตู้กระจกเหมือนอย่างที่พิพิธภัณฑ์อื่นทั่วไปทำ แต่เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ มานำเสนอผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แสง สี เสียง และศิลปะที่สวยงาม หลากหลายรูปแบบการนำเสนอ การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้เยี่ยมชมทุกท่านสนุกไปกับการชมพิพิธภัณฑ์ และยังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไทยที่ไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบที่เราเคยเรียนในห้องเรียน แต่ความเป็นไทยที่มิวเซียมสยามนำมาจัดแสดงนั้นคือ ความเป็นไทยที่ซึมซับอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยซึ่งแฝงมาในรูปแบบของ สิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกิน เครื่องแต่งกาย ยานพาหนะ และอื่นๆ อีกมากมาย  เรียกได้ว่าเป็นความเป็นไทยที่อยู่รอบตัวคนไทยมาอย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ได้เข้าชมนิทรรศการหมุนเวียน “พระนคร On the move” “สามยอด-วังบูรพา- พาหุรัด” ก้าวย่างบนเส้นทางอย่างตะวันตก ที่จัดขึ้นภายในมิวเซียมสยาม จัดแสดงภาพและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเล่าความหลังของสถานที่ 3 แห่งนี้  เพราะเป็นย่านที่เต็มไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ หลายอาชีพ  ที่ได้รับเอาทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความทันสมัยแบบชาวตะวันตกเข้ามา  นับเป็นสถานที่ที่ผ่านการพัฒนาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกสมัยใหม่เป็นที่แรก ๆ ในประเทศไทย

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่จัดแสดงภายในมิวเซียมสยาม
ภาพถ่ายโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งจากนิทรรศการหมุนเวียน พระนคร on the move
ภาพถ่ายโดยพิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

สถานที่ต่อไปคือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) 

เทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย สามย่าน อารีย์ – ประดิพัทธ์ และทองหล่อ – เอกมัย ภายใต้แนวคิด “RESILIENCE: NEW POTENTIAL FOR LIVING ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” เป็นงานที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ความร่วมมือในการคิดค้นไอเดีย สิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบ นวัตกรรมใหม่ ที่ใช้สนองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งภูมิอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น และธรรมชาติที่เริ่มเป็นมลพิษมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เมืองให้กว้างและทันสมัยมากขึ้น เทศกาลจึงเป็นที่ที่รวมไอเดียและนำเสนอผลงานของนักคิด ทั้งภาคเอกชนและรัฐเพื่อผลักดันแนวคิดนี้

ภาพถ่ายบางส่วนของนิทรรศการ “Dreamscape Experience” ในงาน  Bangkok design week 2020
ภาพถ่ายโดย ประดับเพชร นาคทอง

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 

ช่วงเช้าได้เข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ภายในได้จัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำเสนอเนื้อหา 4 เรื่องของประเทศไทย คือ ประวัติศาสตร์ศิลปกรรม ศิลปะไทยประเพณี ประวัติศาสตร์โบราณคดี และพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งวัตถุที่จัดแสดงจะเกี่ยวข้องกับพระราชสำนัก พระราชวัง วัง และวัดต่าง ๆ ทั้ง เครื่องใช้ เครื่องถ้วย เครื่องศัสตราวุธ เครื่องแต่งกาย และจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย ถูกจัดแสดงแบ่งลำดับตามยุคสมัยทางโบราณคดี คือ ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี หรือวัฒนธรรมเขมรโบราณในประเทศไทย ล้านนา สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์  แม้การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยังคงจัดในรูปแบบเดิมซึ่งไม่ได้มีการดึงดูดความสนใจกับผู้ชมมากนัก แต่สิ่งที่นำมาจัดแสดงนั้นล้วนเป็นวัตถุอันทรงคุณค่าทำให้เราไม่อาจละสายตาได้

โรงราชรถ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ภาพถ่ายโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

วัตถุจัดแสดงบางส่วนในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ภาพถ่ายโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

และต่อไปสถานที่สุดท้ายคือ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ภายในอาคาร จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์ด้วยสื่อสี่มิติอันทันสมัย โดยมีภาพ ไทม์ไลน์ วีดีโอ หุ่นจำลอง  นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมในยุครัตนโกสินทร์ และมีการเรียงลำดับในแต่ละห้องจัดแสดงต่อเนื่องและสอดคล้องกัน ในแต่ละห้องมีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมอีกด้วย และในชั้นสุดท้ายเป็นจุดชมวิวที่สวยงามเห็นวิวทิวทัศน์ในย่านกรุงเก่าของกรุงเทพมหานคร และสถานที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น วัดสระเกศ วัดราชนัดดาราม โลหะปราสาท เป็นต้น

จุดชมวิวย่านกรุงเก่าของกรุงเทพที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
ภาพถ่ายโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

ภาพถ่ายโดย อ.ดร.จิราธร ชาติศิริ

จากการลงพื้นที่ใน 2 วันนี้ ถือได้ว่า เป็น 2 วันที่คุ้มค่า และนักศึกษาทุกคน ต่างก็ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของการบอกเล่าเรื่องราว และการจัดนิทรรศการ ซึ่งนอกจากจะมานำเสนอผลงานการศึกษาเป็น power point แล้ว ยังได้ไอเดียใหม่ๆ ในการบอกเล่าหรือนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทความวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการ และสื่ออื่นๆ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากผลงานที่ได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสในครั้งนี้

No comments:

Post a Comment