|
ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นอย่างมาก |
วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. – 16.00 น. สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรม
“ทักษะการพูดนำเสนอและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” ผ่านโปรแกรม Google Meet ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2 โดยวิทยากร
ผศ.ดร.อรวี บุนนาค อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2562 อาจารย์เคยเป็นวิทยากร
“อบรมเตรียมความพร้อม การพัฒนาบุคลิกภาพ มารยาทการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสารสู่ความสำเร็จในการทำงาน” ให้กับนักศึกษารุ่นที่ 1 ก่อนออกเดินทางไปปฏิบัติสหกิจศึกษามาแล้ว สำหรับวันนี้ กล่าวได้ว่าน้อง ๆ ได้รับความรู้ถึงวิธีการสื่อสารและวิธีการนำเสนอหน้าชั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
รายงานโดย ศรัณย์พร อึ้งวนารัชต์
กิจกรรมเริ่มโดยประมาณ 13.00 น. ผศ.ดร.อรวี บุนนาค เริ่มต้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยคำถามเกี่ยวกับการสื่อสารว่า “เด็กน้อยจะเริ่มพูดเป็นคำ ๆ ได้ช่วงใด” ก็มีนักศึกษาตอบเป็นหลายเสียง ถัดมา อาจารย์ได้ปูพื้นฐานเนื้อหาด้านการพูดก่อนเข้าประเด็นหลัก เช่น ความหมายของการพูด ประเภทของการพูดนำเสนอ การพูดในที่ชุมชน องค์ประกอบของการสื่อสาร การวิเคราะห์ผู้ฟัง แนวทางการออกเสียงและการใช้ภาษาในการพูด
|
ปัญหาดังกล่าวมักเป็นข้อกังวลใจสำหรับการพูดนำเสนอ |
|
องค์ประกอบของการสื่อสาร |
|
ประเภทของการพูดนำเสนอ |
จากนั้น จึงเริ่มเข้าสู่เนื้อหาประเด็นหลักคือ การสื่อสารแบบอวัจนภาษาประกอบการพูดและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ซึ่งระหว่างการพูดประเด็นดังกล่าว อาจารย์ได้ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายโดยเฉพาะเรื่องการใช้อวัจนภาษาที่มีความแตกต่างในแต่ละประเทศ การแสดงสีหน้าท่าทาง น้ำเสียง เป็นต้น รวมถึงให้นักศึกษาร่วมถกประเด็นปัญหาการพูดนำเสนอว่ามีอะไรบ้าง คำตอบของนักศึกษามีทั้งการพูดรวบคำ การพูดติดขัด ความตื่นเต้น ฯลฯ อีกทั้งอาจารย์ยังได้ให้ข้อแนะนำ วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การฝึกฝน การเตรียมตัวนำเสนอ การเตรียมบทพูดให้เหมาะสมกับเวลา
|
นักศึกษาได้ร่วมถกประเด็นปัญหาของการพูดนำเสนอ |
|
การสื่อสารมีทั้งแบบวัจนภาษาและอวัจนภาษา |
|
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสื่อสารแบบอวัจนภาษา |
|
ข้อแนะนำลดอาการประหม่าสำหรับการพูดในที่ต่าง ๆ ทั้งสาธารณะและหน้าชั้น |
ต่อมา อาจารย์พูดถึงขั้นตอนการนำเสนอรายงานเชิงวิชาการ เช่น การศึกษาค้นคว้าข้อมูล แหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูล การกำหนดขอบเขตเนื้อหา ฯลฯ ซึ่งในแต่ละประเด็นอาจารย์ได้อธิบายอย่างละเอียด เข้าใจง่าย กล่าวได้ว่า ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนในแต่ละวิชาอาจารย์อาจจะให้ทำรายงานและนำเสนอหน้าชั้นเรียน ดังนั้น ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ จะช่วยให้งานของนักศึกษามีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และถูกตามหลักวิชาการ
|
น้อง ๆ ผู้โชคดีได้รับกระเป๋าจากทางสาขา |
ทั้งนี้ ก่อนจบกิจกรรม อาจารย์ได้ฝากประเด็นสำคัญในการนำเสนอข้อมูลคือ การโจรกรรมข้อมูล (Plagiarism) และการคัดลอกผลงานตัวเอง (Self- Plagiarism) ข้อสำคัญคือการอ้างอิงให้ถูกต้อง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้หลักการอ้างอิงข้อมูลแบบ APA จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงตอบคำถามก่อนที่จะจบกิจกรรมในวันนี้ หลังจากจบกิจกรรม ได้มีการสุ่มแจกกระเป๋าสาขา SEAS รุ่น Limited Edition จำนวน 2 ใบ ให้กับนักศึกษาชั้นปี 2 ได้แก่ 1) นางสาวสมัชญา อินทร์เฟื่อง และ 2) นางสาวปานไพลิน ซามาตย์
กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมครั้งที่ 4 ที่ทางสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เน้นจัดให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 (ในบางกิจกรรมจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีอื่นร่วมด้วย) อย่างไรก็ตาม ทางสาขาจะยังคงมุ่งมั่นจัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้รอบด้านมากที่สุด ครั้งหน้าทางสาขาจะจัดกิจกรรม
"โครงการพัฒนาทักษะ Photoshop" ในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2564 โดยวิทยากร คุณสันดุษิต คำจันทร์ ซึ่งเคยเป็นวิทยากรโครงการ "
5 ความรู้ไอทีที่นักศึกษาปี 1 ควรรู้" ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาแล้ว ทุกท่านสามารถติดตามข่าวสาร บรรยากาศภายในกิจกรรมได้ที่บล็อก
“หลักสูตรสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies)” เท่านั้น
No comments:
Post a Comment