โครงการฝึกทักษะการเก็บข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพ

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) ร่วมกับ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำโครงการออกภาคสนามเพื่อเป็นการฝึกทักษะการเก็บข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพ สำหรับนักศึกษาของทั้งสองหลักสูตรฯ โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่เรียนในรายวิชา 428311 วิชาระเบียบวิธีวิจัยสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำภาคปลาย ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 19 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดอุดรธานี โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 30 คน นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 2 คน และอาจารย์ จำนวน 3 ท่าน เข้าร่วมโครงการ

รายงานโดย เสฎฐวุฒิ สุขสวัสดิ์

โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงาน การลงสนามเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการเก็บข้อมูลในการสนับสนุนการทำวิจัยเชิงคุณภาพ ตลอดจนเพื่อสร้างศักยภาพและประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เพื่อเพิ่มเติมทักษะการทำงานร่วมกัน โดยการสำรวจศึกษาจากสถานที่จริง ได้แก่ แหล่งประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ และพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี


ทางหลักสูตร คณะอาจารย์และนักศึกษา ได้ร่วมกันออกเดินทางจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 06:00 น. และได้เดินทางถึงสถานที่แห่งแรก คือ แหล่งประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ เวลาประมาณ 08:30 น. พร้อมทั้งได้รับการต้อนรับจากทางคณะผู้บริหาร และผู้ดูแลแหล่งประวัติศาสตร์โฮจิมินห์เป็นอย่างดี จากนั้นได้มีวิทยากรผู้บรรยาย นำนักศึกษาและคณะอาจารย์ เข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญอย่าง “ท่านโฮจิมินห์” หรือลุงโฮ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการประกาศอิสรภาพของชนชาติเวียดนาม ซึ่งมีอาคารบ้านพักจำลองของลุงโฮ ที่มีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวก่อสร้างแบบง่าย ๆ ฝาเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ มุงหลังคาด้วยใบจาก สร้างติดพื้นดิน ปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในแบ่งพื้นที่เป็นห้องโถงกลาง จัดแสดงโต๊ะประชุม ห้องนอน โต๊ะทำงาน และห้องครัว โดยจะจัดไว้ให้มีสภาพเหมือนกับสมัยที่ลุงโฮอาศัยอยู่


ใกล้กันมีอาคารหลังใหญ่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ เพื่อใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ “ลุงโฮในเมืองไทยและจังหวัดอุดรธานี” ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลชีวิตของลุงโฮ พร้อมทั้งอุดมการณ์ และประวัติศาสตร์ ความพยายามในการปลดแอกจากอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อสร้างชาติเวียดนาม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ซึ่งเป็นจุดหนึ่งในแผนที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของท่านโฮจิมินห์ในต่างแดน


ภายหลังจากทางคณะอาจารย์และนักศึกษาได้รับข้อมูลความรู้จากวิทยากรผู้มากความสามารถแล้ว คณะผู้บริหารและผู้ดูแลสถานที่ยังได้เชิญพวกเราเข้าร่วมฟังการกล่าวขอบคุณ และกล่าวถึงความสำคัญของสถานที่ พร้อมทั้งเรียนเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนนันท์ บุ่นวรรณา ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา เป็นตัวแทนในการกล่าวแสดงความขอบคุณ แก่คณะผู้บริหารแหล่งประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกแก่ของพวกเราในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเกียรติและเป็นประสบการณ์อันดีอย่างยิ่งในการศึกษาหาข้อมูลความรู้จากสถานที่สำคัญแห่งนี้


ในช่วงบ่ายทางคณาจารย์ และเหล่านักศึกษาได้เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เพื่อเข้าชมนิทรรศการจัดแสดงที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่เกียรติประวัติของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือการเป็นแหล่งเรียนรู้และนำเสนอเนื้อหาองค์ความรู้ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุดรธานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ด้วยความร่วมมือทั้งแรงกายและแรงใจของคณะอาจารย์และนักศึกษา ทำให้โครงการลงสนามเพื่อการฝึกทักษะการเก็บข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพสำเร็จลุล่วงลงไปได้ด้วยดี การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากเป็นการเรียนรู้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และได้ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันแล้ว ยังถือว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำความรู้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในการศึกษา เพื่อทำการศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจในอนาคตต่อไป 
















No comments:

Post a Comment