SEAS-KKU สำรวจศึกษาเมืองเก่าสุโขทัย

SEAS-KKU | 6:45 AM |
การสำรวจศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในอารยธรรมสุโขทัย วันที่สอง 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในวันนี้เน้นศึกษาเฉพาะในตัวเมืองเก่าสุโขทัยเป็นหลัก เริ่มต้นจากด้านนอกเมืองที่วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม วัดสะพานหิน และสรีดภงส์ จากนั้นจึงเข้าศึกษาในเขตกำแพงเมือง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง วัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย วัดสระศรี เป็นต้น
อภิสรา แสงอรุณ
ทิตยา ไชยศรีหา
ธิติกาญจน์ แสงฤทธิ์
“รายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาในด้านการสำรวจข้อมูลภาคสนาม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิหลังทาง ประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน และมีความสามารถในการเขียนเชิงประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว สามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ และงานวิจัย รวมทั้งเพื่อเป็นการสั่งสมประสบการณ์และผลงานเพื่อต่อยอดในการเรียนและการฝึกงานในอนาคต”

สำหรับการเดินทางในวันที่สอง สถานที่แรกที่เราได้ไปศึกษา คือ วัดพระพายหลวง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ มีการสันนิษฐานว่าวัดพระพายหลวงนั้นเป็นที่ตั้งของตัวเมืองเดิมก่อนการสถาปนาสุโขทัย เนื่องจากมีคูน้ำล้อมรอบสามชั้น วัดพระพายหลวง เป็นวัดพุทธนิกายมหายาน  ดังนั้นสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะพระปรางค์ 3 ยอด โดยสร้างขึ้นประมาณระหว่าง พ.ศ. 1724 ถึง 1762 ก่อด้วยศิลาแลง เป็นศิลปเขมรแบบบายน โดยสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระพายหลวง คือ พระปรางค์ 3 องค์ ซึ่งองค์กลางพบพระพุทธรูปปางนาคปรก ปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงฐาน 2 องค์ และสมบูรณ์เพียงองค์ด้านทิศเหนือ ถัดจากปราสาทไปทางตะวันออกนอกจากจะมีวิหารแล้ว ยังมีเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบปิรามิด ประดับทุกด้านด้วยซุ้มพระพุทธรูปลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ทางด้านตะวันออกสุดของกลุ่มโบราณสถาน เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบท เดิน ยืน นั่ง และนอน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะสร้างในสมัยหลังที่สุดในบรรดาโบราณสถานที่กล่าวมาแล้ว คือในสมัยสุโขทัยตอนปลาย



จากนั้นเดินทางไปที่ วัดศรีชุม ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงเพียง 800 เมตร เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดแห่งนี้คือ มีมณฑปขนาดใหญ่ข้างในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้เรียกว่า พระอจนะ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยที่มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดนี้ก็คือ ลักษณะการก่อสร้างตัวมณฑปซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นภายหลังจากที่สร้างองค์พระอจนะ และยังมีการเจาะอุโมงค์ที่ผนังด้านข้างของวิหาร จึงทำให้สามารถเดินขึ้นไปยังด้านหลังขององค์พระได้ และเมื่อมีใครขึ้นไปอยู่ที่หลงองค์พระเวลาที่พูดออกมาดังๆ จะมีเสียงก้องกังวานคล้ายกับว่าพระพุทธรูปพูดได้ และภายในอุโมงค์ยังมีภาพจิตรกรรมแผ่นหินชนวนเกี่ยวกับเรื่องราวชาดกจำนวนกว่า 50 ภาพ และมีจารึกอักษรสมัยสุโขทัยบรรยายประกอบภาพด้วย ซึ่งมีอายุกว่า 700 ปี แต่ปัจจุบันอุโมงค์นี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชมแล้วเพื่อเป็นการรักษาสภาพของภาพจิตรกรรมเอาไว้




เวลาต่อมาพวกเราได้เดินทางไปที่ วัดสะพานหิน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอรัญวาสี หรือเขตวัดป่า วัดสะพานหินแห่งนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ก่อนจะถึงตัววิหารด้านบนจะต้องเดินเท้าขึ้นเขา โดยมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไป มีความสูง 200 เมตร เมื่อเดินขึ้นมาด้านบนจะพบว่า มีพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัยขนาดใหญ่อยู่ภายในวิหาร สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารส ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของวัดสะพานหินแห่งนี้ ตัวพระประธานมีความงดงามตามแบบของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งามและอ้อนช้อยมาก และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของศิลปะสุโขทัย ดูจากบริเวณนิ้วพระหัตถ์มีลักษณะอวบ เรียวยาว เรียงตัวอย่างสวยงาม สร้างความประทับใจให้กับชาวคณะ นอกจากตัวพระประธานประทับยืนที่มีขนาดสูงใหญ่แล้ว ยังมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดเล็กอยู่ระหว่างทางเดินขึ้นเขาอีกด้วย




หลังจากนั้นคณะเดินทางได้มุ่งหน้าสู่เขื่อนสรีดภงส์โดยใช้เวลาเดินทางออกจากวัดศรีชุมถึงเขื่อน ไม่เกิน 10 นาที เมื่อถึงเขื่อนสรีดภงส์ณะเดินทางก็เดินรับชมความสวยงามของเขื่อน เนื่องจากบรรยากาศในช่วงเช้ามีแสงแดดอ่อนๆ สามารถถ่ายรูปและเดินเล่นซึบซับบรรยากาศยามเช้าได้ อีกทั้งได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของเขื่อนแห่งนี้ ในอดีตสมัยสุโขทัยมีการเรียกเขื่อนนี้ว่า ทำนบพระร่วง ซึ่งหมายถึง คันดินที่ใช้ในการเบี่ยงเบนทางน้ำ โดยสันนิษฐานว่า สรีดภงส์อาจไม่ได้มีที่นี่ที่เดียว เนื่องจากสุโขทัยมีระบบน้ำที่ใหญ่โต จึงทำให้ระบบการชักน้ำมีความซับซ้อน ในส่วนของลักษณะเด่นของเขื่อนแห่งนี้ จะสังเกตได้ว่า เป็นคันดินกั้นน้ำ ที่อยู่ระหว่างซอกเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ้วอายม้า สร้างเพื่อชักน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัย มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี และอาจถือว่าเป็นเขื่อนแห่งแรกในอาณาจักรไทย




คณะของเราได้เดินทางเข้าชมสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยที่มาจากการขุดค้นตัวเมืองเก่าของสุโขทัย แต่บางส่วนได้จากบริเวณเมืองใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เป็นต้น ซึ่งภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์จะแบ่งการแสดงโบราณวัตถุออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. อาคารอนุสรณ์ลายสือไท เป็นอาคารแรกที่อยู่ด้านหน้าตัวพิพิธภัณฑ์ ภายในอาคารจะจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป ศิลาจารึก เครื่องสังคโลก และ ถ้วยชาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำลองถ้ำที่วัดศรีชุม อีกด้วย
  2. อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นอาคารที่มี 2 ชั้น ภายในตัวอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุของจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น เทวรูป เครื่อง ศาสตราวุธ เครื่องถ้วยจีน พระพุทธรูปสำริด เป็นต้น 
  3. พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ รอบนอกอาคาร เช่น  เสมาธรรมจักรศิลา ศิลาจารึก เตาทุเรียนจำลอง เป็นต้น 

ในช่วงบ่ายพวกเราเปลี่ยนมาใช้จักรยาน เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการเดินทางภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มต้นจากการไปกราบพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ลานอนุสาวรีย์ของท่าน เพื่อความเป็นศิริมงคล พวกเราส่วนใหญทราบเรื่องราวของพระองค์ท่านเป็นอย่างดีเกี่ยวกับคุณูปการด้านการประดิษฐ์อักษรไทยและด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และที่สำคัญการใช้ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ประชาชนในสมัยนั้นจึงมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และหากมีเรื่องเดือดร้อนใจก็สามารถสั่นกระดิ่งหน้าเมืองเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระองค์ท่านได้โดยตรงอีกด้วย




จากนั้นจึงเดินทางไปที่ วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดประจำอาณาจักรสุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า อีกทั้งได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมมาจาก ขอม และลังกา และยังได้คิดค้นรูปแบบเฉพาะของสุโขทัยขึ้นมา โดยเฉพาะเจดีย์ประธานซึ่งเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสุโขทัย หลังจากการเดินสำรวจโดยรอบวัด จะสังเกตได้ว่าวัดมหาธาตุจัดเป็นวัดที่มีเจดีย์มากและหลากหลายที่สุดในเมืองเก่าสุโขทัย ที่แสดงถึงความสำคัญและความเจริญอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนี้คณะเราได้แยกย้ายกันสำรวจโบราณสถานภายในอุทยานตามอัธยาศัย ซึ่งภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้นมีแหล่งโบราณสถานอีกหลายที่ให้เราได้ศึกษา เช่น วัดสระศรี วัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน เป็นต้น 

สิ้นสุดการศึกษาในเวลา 18.00 น. จึงเดินทางกลับที่พักและพักผ่อนตามอัธยาศัย ถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในวันที่สองของโครงการสำรวจศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในอารยธรรมสุโขทัย

จากการเดินทางสำรวจแหล่งโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในวันที่สองของการเดินทาง ถือเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าเป็นอย่างมาก พวกเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่จริง ทำให้เข้าใจและเข้าถึงประวัติศาสตร์มากขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาเยี่ยมชมและศึกษาสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่าของไทย ซึ่งมีสถานที่ที่สำคัญมากมายให้เราได้สัมผัสทั้ง ศาสนสถาน โบราณสถานจำนวนมาก และสุดท้ายนี้ชาวคณะยังได้เพลิดเพลินกับการปั่นจักรยาน ซึมซับบรรยากาศของเมืองเก่าสุโขทัย ถือเป็นความทรงจำที่จะประทับอยู่ในใจไปอีกเนิ่นนาน
























No comments:

Post a Comment