การบรรยายพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียนท่ามกลางการเผชิญหน้าของสหรัฐอเมริกา-จีน

การบรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ของอาเซียนท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน  โดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอคอัครราชทูตไทย และนักวิจัยดีเด่น สกว.ปี 2561 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ระหว่างเวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม 2 อาคาร HS.05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ หลักสูตรเอเชียตะวันเฉียงใต้ศึกษา หลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา และศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง

รายงานโดย

การบรรยายพิเศษ เริ่มต้นขึ้นภายหลังพิธีเปิดโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนนันท์ บุ่นวรรณา ประธานหลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา กรรมการบริหารหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และเลขานุการศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นท่านอดีตเอคอัครราชทูตไทย นายสุรพงษ์ ชัยนาม ได้เข้าสู่หัวข้อการบรรยาย ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญออกมาได้ดังนี้


ในช่วงแรก วิทยากรได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง ความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความร่วมมือกันเพียงเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อาจหมายความรวมไปถึงความขัดแย้งกันด้วย ซึ่งความร่วมมือหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้นก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่รวมไปถึงหลาย ๆ ด้านภายในประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ

ตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ได้มีกำลังความร่วมมือ หรือขัดแย้งกันนั้น ให้ดูจากผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายพึงจะได้รับจากอีกประเทศหนึ่ง ถ้าผลประโยชน์ลงรอยกัน และเป็นไปด้วยดี นั่นแปลว่า สองประเทศนี้กำลังมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงร่วมมือกัน แต่ถ้าผลประโยชน์เป็นไปในทางตรงกันข้าม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ก็จะเป็นความสัมพันธ์แบบความขัดแย้งซึ่งกันและกัน

จะเห็นได้ว่า ผลประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญมาก ในเรื่องการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม ซึ่งผลประโยชน์มีหลายด้าน เช่น การเมือง เศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น แต่ผลประโยชน์ที่ทุกประเทศต้องการสูงสุด คือ ผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ เพราะมันบ่งบอกได้ถึงความอยู่รอดของคนในประเทศ และยังบอกได้ว่าประเทศนี้มีอำนาจที่จะปกครองตัวเองหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศ ก. ไม่มีความมั่นคง ตกเป็นประเทศราชของประเทศใด ๆ นั่นแปลว่า ประเทศ ก. ไม่สามารถที่จะปกครองตนเองได้อย่างเป็นอิสระ


จากนั้น วิทยากรได้อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ ว่า เมื่อเราเรียนรู้ภูมิศาสตร์ของประเทศใด เราก็จะได้เรียนรู้นโยบายต่างประเทศของประเทศนั้นไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศ ก. อยู่ใกล้ประเทศไทย เมื่อเกิดสงครามขึ้นที่ประเทศ ก. คนก็จะอพยพเข้ามาในไทย เพื่อลี้ภัย และหางานทำ แต่หากประเทศ ก. อยู่ไกลจากชายแดนไทย เหตุการณ์นี้ก็จะไม่เกิดขึ้น  จากตัวอย่างจึงสรุปได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ สามารถบ่งบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ด้วยการใช้หลักคิดนี้ และนำเอาไปวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิรัฐศาสตร์  ยังส่งผลต่อการถ่วงดุลอำนาจในแต่ละยุค เพราะหากไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ก็จะเกิดการผูกขาด และไม่มีการแข่งขันต่าง ๆ เกิดขึ้น

วิทยากรยังได้อธิบายถึงบริบทที่แตกต่างของแต่ละประเทศในแต่ละยุค เพื่อชี้ให้เห็นว่า แต่ละประเทศ ล้วนแล้วแต่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นสำคัญ เช่น ในช่วงสงครามเย็น ที่ไทยต้องเป็นศัตรูกับจีน แต่เมื่อสงครามเย็นสงบลง ไทยก็หันมาค้าขายกับจีน เหตุการณ์นี้ ท่านสรุปว่า ในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่า ผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูที่ถาวรในการดำเนินนโยบาย มีสิ่งเดียวที่ถาวร คือ ผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศของตน

ท่านได้อธิบายถึงสงครามเย็น ว่าเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สาเหตุที่เรียกว่า สงครามเย็น ก็เพราะว่า ประเทศที่เป็นผู้นำของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายโลกเสรี ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะปะทะกันเอง เพราะต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง จึงได้ให้ประเทศที่เป็นลูกข่ายของทั้งสองฝ่ายออกไปรบกัน และการทำสงครามไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่โดยการกระทำแล้ว เรียกว่า การทำสงครามโดยผ่านตัวแทน สงครามเย็นครั้งนี้ ไม่ได้จำเพาะอยู่ที่การส่งกำลังทางทหารออกไปรบกัน แต่ยังรวมไปถึงสงครามทางเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ

เมื่อเกิดสงครามเย็น ทำให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสองขั้ว โดยอาศัยการถ่วงดุลอำนาจ แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย สงครามเย็นก็ได้สิ้นสุดลง

ในตอนท้ายวิทยากรได้อธิบายถึงการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน ซึ่งในตอนแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมีสมาชิกที่ร่วมกันก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ภายหลังได้กลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมให้อาเซียนมีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ปัจจุบันประชาคมอาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทั้งสองประเทศได้เข้ามามีบทบาทให้การถ่วงดุลอาเซียน ซึ่งวิทยากรได้เปรียบเทียบจีนกับสหรัฐอเมริกา ว่าสองประเทศมหาอำนาจนี้เปรียบได้กับช้าง และเปรียบประเทศเล็ก ๆ เหมือนหญ้าแพรก เมื่อช้างสองตัวเกิดมีปัญหากันขึ้นมา หญ้าแพรกก็จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเสมอ หากประเทศมหาอำนาจมีปัญหากันมากขึ้น เหล่าประเทศเล็ก ๆ ก็จะถูกบังคับให้เลือกข้าง ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาคือ หากไม่เป็นพันธมิตรกันก็ควรจะเป็นคู่แข่งกันไปเลย เพื่อที่การแข่งขันนั้นจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และยังเป็นการถ่วงดุลทางอำนาจอีกด้วย

จากการฟังบรรยายพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ของอาเซียนท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีผลประโยชน์เป็นสำคัญ ทั้งในเรื่องของความมั่นคง ความอยู่รอด หรือการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศของแต่ละประเทศ ทั้งยังสามารถนำกรอบแนวคิดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่วิทยากรได้อธิบายนั้นนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน









No comments:

Post a Comment