มูลเหตุแห่งการพัฒนาหลักสูตร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาไทย ให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมไทยและประชาคมอาเซียน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย (พ.ศ.2559-2562) ที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ปัญหาในสภาพความเป็นจริงและสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศและตลาดแรงงานอาเซียน


โดยมุ่งเน้นด้านการผลิตองค์ความรู้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา การประยุกต์ใช้และการเผยแพร่ด้วยมุมมองที่สร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มความเข้าใจและความร่วมมืออันดีระหว่างสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจก รวมถึงมีขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานด้วยองค์ความรู้และทักษะแบบบูรณาการ บนพื้นฐานของทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน และองค์ความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว หรือสารสนเทศ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ ที่มีผู้ต้องการเข้าศึกษามากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งเป็นดินแดนที่มีเนื้อที่มากที่สุดเทียบได้กับหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งประเทศ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น แตกต่างจากภูมิภาคอื่น อีกทั้งจังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงแนวตะวันออก-ตะวันตก (GMS East-West Economic Corridor-EWEC) ที่เชื่อมเมืองต่างๆ ของประเทศเวียดนาม สปป.ลาว และพม่า ไปยังคาบสมุทรอินเดียและตะวันออกกลาง


ที่มา : https://apply.kku.ac.th/

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีการพัฒนาทางการศึกษา เศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ขณะที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆที่เชื่อมโยงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวและด้านสารสนเทศ จึงมีความพร้อมในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดงานทั้งสองด้าน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้และสนับสนุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับประเทศในลุ่มน้ำโขงมาเป็นเวลา 15 ปี มีการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการกับนักวิชาการในประเทศต่างๆ มีการผลิตวารสารสังคมลุ่มน้ำโขง เป็นเวทีการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศในลุ่มน้ำโขง กำหนดออกราย 3 เดือน จึงมีความพร้อมในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้เป็นอย่างดี



No comments:

Post a Comment