สถานการณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา



นอกเหนือจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) แล้ว อีกเสาหลักหนึ่งใน 3 เสาของประชาคมอาเซียนคือ การจัดตั้งประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) เป้าหมายคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม พร้อมรับมือกับผลกระทบอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีสำนึกความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน






กระนั้น ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างผู้คนในประเทศต่างๆ ภายใต้กิจกรรมด้านการค้าการลงทุน  การเคลื่อนย้ายแรงงาน  การท่องเที่ยว  และการศึกษา ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในแต่ละประเทศอาเซียนเป็นไปอย่างซับซ้อน มีทั้งการเปิดรับวัฒนธรรมสากล หรือวัฒนธรรมมวลชนเข้าผสมผสาน หรือแทนที่วัฒนธรรมท้องถิ่น กับการสร้าง/รื้อฟื้นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อตอบโต้การกดทับที่ผ่านมาของรัฐชาติ หรือภายใต้ความสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นเดียวกัน รวมถึงการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยว ยิ่งกว่านั้นการใช้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนต่างๆ ในอดีต ยังคงมีแนวโน้มในการก่อความขัดแย้งแข่งขันและความหวาดระแวงต่อกันมากกว่าความร่วมมือและความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ และทัศนคติของประชาชนในแต่ละประเทศ

ดังนั้น การศึกษาในปัจจุบันจึงต้องเป็นการศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงกันในหลากหลายรูปแบบหรือหลากหลายระบบ ไม่ถูกปิดกั้นให้อยู่ในเฉพาะกลุ่มในวงแคบอีกต่อไป การจัดการศึกษาที่กว้างไกลในลักษณะการศึกษาข้ามวัฒนธรรม (Cross Culture Education) เพื่อมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การเตรียมการและการสร้างความพร้อมให้กับประชาชนในประเทศ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป ปัจจัยทางด้านการจัดการศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในการแข่งขันและการดำรงชีพร่วมกันได้อย่างเหมาะสม




อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจทัศนคติและความตระหนักรู้เพื่อก้าวสู่อาเซียนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 2,170 คน พบว่า นักศึกษาไทยมีความตระหนักในความเป็นพลเมืองอาเซียนรั้งท้ายเป็นอันดับที่ 8 โดยมีเพียงร้อยละ 67 เท่านั้นที่ตระหนักว่าตนเองเป็นพลเมืองอาเซียน ความรู้เบี้องต้นเกี่ยวกับอาเซียนของคนไทยรั้งท้ายเป็นอันดับที่ 10 และส่วนใหญ่รับรู้เรื่องประชาคมอาเซียนจากโทรทัศน์มากถึงเกือบร้อยละ 80 (สุทธศรี วงษ์สมาน, 2554) แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องเร่งให้การศึกษาคนไทยเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน


No comments:

Post a Comment