สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา



ภายในปี 2558  ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมกัน 10 ประเทศ มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคนหรือเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดที่มีในโลก   และกำลังจะมุ่งสู่หนึ่งใน 3 เสาหลัก*  คือ


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) นั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะกลายเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ  การลงทุน แรงงานมีฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้งจะมีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศคู่ค้าที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทุกๆด้าน ดังเช่น อาเซียน+ 3 คือ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและ 3 ประเทศนอกอาเซียนได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 ล้านคนหรือหนึ่งในสามของประชากรโลก แต่เมื่อรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกันจะทำให้มีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลก ขณะที่ยอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันจะสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองต่างประเทศของโลก



ตัวอย่างข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาซียน+3 จะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต  ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในยุคหลังสมัยใหม่แต่ยังเป็นพื้นที่ที่กำหนดความมั่นคงและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย   ดังนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญยิ่งในภูมิศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจของโลก  และการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของประเทศไทยจึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เพื่อรับมือกับการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสังคมโลก




ในด้านการท่องเที่ยวพบว่ามีนักท่องเทียวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย ย้อนหลัง 5 ปี มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น ปี 2553 มีจำนวน 15,936,400 คน ปี 2554 จำนวน 19,230,470 คน ปี 2555 จำนวน 22,353,903 คน ปี 2556 จำนวน 26,546,725  คน และล่าสุด ปี 2557 รวมจำนวนทั้งสิ้น 24,779,768 คน ในจำนวนนี้มีคนอาเซียนเข้ามา 6,620,231 คน คิดเป็นร้อยละ 26.72 ซึ่งจะเห็นว่าโดยถัวเฉลี่ยแล้วมีชาวต่างชาติสนใจเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น (กลุ่มสถิติและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว, 2558) แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดงานด้านการท่องเที่ยว และความต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ความเข้าใจและทักษะทางสังคมวัฒนธรรมเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มความซับซ้อนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาค ส่งผลให้มีปริมาณข้อมูลข่าวสารมากล้น จนการดำรงชีวิตของผู้คนและการดำเนินกิจกรรมไม่ว่าในภาคธุรกิจเอกชน ราชการหรือการประกอบการอิสระ ล้วนจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถและทักษะด้านสารสนเทศเพื่อจัดการกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ  อย่างมีประสิทธิภาพ

...................................

*สามเสาหลัก ประกอบด้วย 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security =APSC) 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) 3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community=ASCC)

No comments:

Post a Comment