มารู้จัก "หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (SEAS-KKU)"

เมื่อพูดถึงหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หลายคนคงเกิดความสงสัยว่าหลักสูตรนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร แล้วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างกับอาเซียนอย่างไรบ้าง หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อหลักสูตรนี้มาก่อนด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าในฐานะนักศึกษาของหลักสูตรดังกล่าว จึงมีความต้องการให้ผู้อ่านได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสาขาน้องใหม่ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผ่านบทสัมภาษณ์ ดร.เบญจวรรณ นาราสัจจ์ ประธานหลักสูตรฯ ซึ่งข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรนี้มากยิ่งขึ้น 


ความเป็นมาของหลักสูตร ทำไมถึงเป็น Southeast Asian Studies (SEAS)?
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่เป็นภูมิภาคที่ไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากนัก จนกระทั่งมีประชาคมอาเซียนเข้ามาและกลายเป็นนโยบายของรัฐ ทำให้เกิดความตระหนักว่าทำไมเด็กไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอในเรื่องของอาเซียน เลยพยายามสนับสนุนให้มีการก่อตั้งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ซึ่งเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว แต่เรามองว่าอาเซียนเป็นเรื่องของการเมืองซึ่งมันก็จะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ใช้พื้นที่เป็นตัวกำหนด เพราะฉะนั้นไม่ว่าการเมืองมันจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะแยกกันออกไปอีกสิบประเทศหรือรวมกันเป็นสองประเทศ ตราบเท่าที่มันยังเป็นภูมิภาคองค์ความรู้นี้ก็จะยังอยู่ในกรอบเดิม จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเปิดหลักสูตรเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแทนที่จะเป็นอาเซียนศึกษา

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหลักสูตรและวิสัยทัศน์ของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพื่อต้องการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และพร้อมที่จะทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราถึงได้กำหนดว่าผู้เรียนต้องได้ ภาษาอังกฤษ เพราะไม่ว่าจะทำงานในประเทศใดก็ตามคุณก็ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษามาตรฐานที่ใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร เนื่องจากเราคงไม่ได้ใช้แค่ภาษาของเจ้าของประเทศเท่านั้น ส่วนภาษาอาเซียนซึ่งกำหนดให้เรียนเป็นพื้นฐาน ถ้าใครมีความสนใจก็เอาไปต่อยอดได้ด้วยตนเอง ซึ่งในเบื้องต้นทางหลักสูตรได้เปิดสอนเพียงสองภาษา คือ ภาษาเวียดนาม และ ภาษาอินโดนีเซีย ส่วนภาษาอื่นๆ น่าจะเปิดสอนเพิ่มในอนาคต
ส่วนความรู้ในด้านของเนื้อหาจะเป็นความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถแยกเป็นเฉพาะสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ได้ หลักสูตรจึงจัดเนื้อหาแบบให้รู้เรื่องที่ควรจะรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยองค์รวม เช่น วิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่เรามองว่าคุณจะทำความเข้าใจภูมิภาคไหนก็ตามประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกเรื่องที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นมรดกจากประวัติศาสตร์ทั้งนั้น และเรามีเอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวที่เราต้องมีความรู้เหล่านี้ในระดับพื้นฐานเพื่อให้รู้ว่าจุดเด่นของแต่ละอารยธรรมแต่ละที่เป็นยังไงซึ่งจะทำให้คุณรู้จักเลือกหยิบข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
วิชาสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้รู้จักค้นคว้าและจัดการข้อมูล โดยสามารถนำไปต่อยอดในเอกสารสนเทศได้ และกลุ่มวิชาจำเป็นที่ต้องรู้ เช่น กฎหมาย การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชาที่สร้างองค์ความรู้ เช่น วิชาระเบียบวิธีวิจัย วิชาสัมมนา ซึ่งต้องเรียนวิชาทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ประกอบในการวิจัย เพราะปัจจุบันนี้ในการทำวิจัยส่วนใหญ่ก็จะอิงกับทฤษฎี ในงานประวัติศาสตร์ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ทฤษฎีแต่จริงๆ แล้วมันมีกรอบคิดและกรอบคิดเหล่านี้ก็มาจากทฤษฎี วิชาเหล่านี้ก็เป็นวิชาแกนที่จัดให้เรียน และเราหวังว่าพอจบวิชาหลักและวิชาพื้นฐานที่เราจัดให้เรียนจะทำให้นักศึกษามีความพร้อมที่จะออกไปเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ มีพื้นความรู้ที่ทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆได้ง่ายขึ้น เวลาที่ไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
ส่วนวิชาเอกก็เป็นวิชาที่เสริมให้โดยให้เลือกว่าอยากจะพัฒนาต่อเพื่อการทำงานในด้านไหน ซึ่งวิชาเอกของหลักสูตร ได้แก่ ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว เป็นการเอาเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในทางท่องเที่ยว สิ่งที่ดึงดูดความสนใจผู้ชม ผู้อ่าน หรือคนเดินทางไปตรงนั้น งานหลักๆ ก็จะเป็นการสร้างและผลิตสื่อสารคดี วีดีทัศน์ การจัดการท่องเที่ยว เป็นต้น และ สารสนเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเครื่องมือในการสืบค้นและจัดการข้อมูล ซึ่งนอกเหนือจากการเรียนพื้นฐานแล้วเราจะสามารถนำเอาความรู้ไปต่อยอดได้

อยากให้อาจารย์พูดถึงจุดแข็งของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
จุดแข็งของหลักสูตร คือ เราให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนภาษาและหลักสูตรนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บางหลักสูตรภาษาเขาจะให้เป็นหน้าที่ของนักศึกษาที่จะเลือกเรียนด้วยตนเอง แต่หลักสูตรของเราจะใส่ภาษาไว้ในหลักสูตร เพราะเราเห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาแม้ว่าพื้นฐานของนักศึกษาอาจจะไม่แน่นเท่าไหร่ นอกจากนี้ทางหลักสูตรยังมีการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น การจัดทริปให้ปีหนึ่งไปเรียนรู้เกี่ยวกับชายแดน ปีสองไปประเทศในภาคพื้นทวีป และปีสามไปประเทศในหมู่เกาะ ซึ่งเป็นการเสริมการเรียนรู้นอกห้องเพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียนแก่นักศึกษาของหลักสูตร รวมทั้งการจัดอบรมเสริมศักยภาพต่างๆ เพื่อเตรียมทักษะให้นักศึกษาเรามีความพร้อมในการทำงานในอนาคต

ความรู้สึกต่อนักศึกษาในหลักสูตรทั้งสองรุ่น
รู้สึกว่านักศึกษาของเราค่อนข้างมีความหลากหลายมาก มันเป็นสิ่งที่คาดไว้อยู่พอสมควรเพราะหลักสูตรนี้เป็นแบบบูรณาการ มันก็จะเป็นบุคคลซึ่งแตกต่างกันที่เข้ามารุ่นหนึ่งทำไว้ดี สามารถดูแลกันได้ แต่ว่ารุ่นสองก็เป็นบทเรียนของเราว่าการที่เด็กเพิ่มขึ้นจาก40เป็น50 เราก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าเด็กแต่ละรุ่นมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่ความสัมพันธ์ในรุ่นเดียวกัน
สุดท้ายนี้อยากให้อาจารย์ฝากถึงนักศึกษารุ่นต่อไปและผู้ที่สนใจหลักสูตรนี้ 
ฝากถึงนักศึกษาหรือใครก็ตามที่มาเรียนหลักสูตรนี้ ต้องยอมรับว่าคุณต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพราะต้องเรียนหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน คือ สมัยที่เข้ามาใหม่คือคุณอาจจะมีจุดเด่นเรื่องภาษา เรื่องประวัติศาสตร์ หรือจุดเด่นด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ซึ่งโดยส่วนมากจะเก่งเพียงด้านเดียว แต่หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรบูรณาการ ดังนั้นเราจึงต้องการให้คุณมีความชำนาญในหลายๆ ด้าน แต่ในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องเลือกแกนของตัวเองก่อน เช่น ชอบหรือชำนาญด้านประวัติศาสตร์คุณก็อาจจะใช้ประวัติศาสตร์นั้นเป็นแกนของคุณในการเป็นจุดเด่นของตนเอง แล้วจึงทำความเข้าใจด้านอื่นๆ เช่น เรียนภาษาเพิ่มขึ้น 
แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าทิ้งจุดเด่นของตนเองเพราะว่าเราไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแบบเดียวกันและมีความชำนาญที่เหมือนกันซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่การเป็นหลักสูตรบูรณาการคือนักศึกษาที่จบออกไปจะมีจุดเด่นของตัวเองซึ่งมาจากพื้นฐานที่มีมาก่อน แล้วก็อยู่ที่พัฒนาการว่าจะพัฒนาส่วนอื่นๆได้มากแค่ไหน และที่สำคัญคือ อย่าทิ้งจุดเด่นแต่ให้เพิ่มเข้าไปในส่วนอะไรที่เราไม่ถนัดแล้วก็ทำให้จุดเด่นของเรางอกงามขึ้น สำหรับใครที่มีความสนใจในหลักสูตรนี้และอยากเข้ามาเรียน อยากให้มองในแง่ว่าคุณจะได้พัฒนาตัวเองมันอาจจะเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้เรียนง่ายนักแต่เรามั่นใจว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่จะทำให้คุณพร้อมแข่งในตลาดแรงงานอย่างแน่นอน
จากบทสัมภาษณ์ในข้างต้นคงจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงที่มาของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วิสัยทัศน์และรายละเอียดของรายวิชาที่เปิดสอนในหลักสูตร นอกจากนี้ยังได้เห็นถึงจุดแข็งของหลักสูตร ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ ที่มีความสนใจในหลักสูตรนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นหลักสูตรเปิดใหม่และพึ่งมีนักศึกษาเพียงสองรุ่น แต่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรที่ช่วยสร้างนักศึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการทำงานและตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน และสุดท้ายนี้ในฐานะของนักศึกษาในหลักสูตรข้าพเจ้าก็อยากฝากถึงรุ่นน้องที่มีความสนใจในหลักสูตรนี้ ว่าอยากให้นำไปพิจารณาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ลองเปิดใจกับหลักสูตรนี้ดูนะครับ

สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่



No comments:

Post a Comment