โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Infographic Design ประจำปีการศึกษา 2561


โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Infographic Design จัดขึ้นในวันเสาร์ ที่ 8 เดือนกันยายน พ.ศ.2561 ณ อาคาร HS.5 ห้อง 2910 โดยหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 36 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะด้านไอที และเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกปฏิบัติงานสหกิจศึกษาและการทำงานในอนาคต

รายงานโดย คุณาสิน ลุนพุฒ

Infographic คืออะไร? .. Infographic คือ การนำข้อมูลหรือความรู้มาสรุปเป็นสารสนเทศ ในลักษณะของกราฟฟิกที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และสามารถสื่อให้ผู้ชมเข้าใจความหมายของข้อมูลได้มากที่สุด การออกแบบ Infographic จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงาน การเผยแพร่งาน ให้เข้าถึงผู้คนได้มาก และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเพิ่มทักษะที่โดดเด่นให้นักศึกษาหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาทุกคนได้นำไปใช้ในการฝึกงาน เพื่อช่วยเผยแพร่งานให้หน่วยงานนั้นๆ และนำเสนอรายงานสรุปผลสหกิจศึกษา สำหรับการอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรโดย คุณธีรยุทธ บาลชน จากสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


สำหรับการอบรมนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าเวลา 09:00 น. วิทยากรเริ่มบรรยายถึงความสำคัญ และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโปรแกรม Infographic ซึ่งปัจจุบันการนำเสนอเนื้อหาให้น่าสนใจนั้น ต้องมีการใส่ลูกเล่น แสดงข้อมูลโดยใช้สัญลักษณ์ เพื่อให้ชิ้นงานนำเสนอมีความน่าสนใจและดึงดูดผู้อ่าน และง่ายต่อความเข้าใจ โดยวิทยากรให้หลักในการสร้าง Infographic 4 ประการ ดังนี้

              1.กฎ 3 สี (ไม่ใช้เกินสามสี แต่การใช้สีโทนคล้ายๆกันนับเป็น 1 สี) 
              2.กฎการ focus (ต้องมีจุด focus ในงานเพื่อดึงดูดความสนใจ) 
              3.กฎตัว Z (การเรียงข้อความจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง) 
              4.กฎการหายใจ (การเว้นช่องว่างเพื่อไม่ให้เนื้อหาและรูปภาพติดกันจนเกินไป) 

เมื่อนักศึกษารู้จักกฎการทำ Infographic เบื้องต้นแล้ว วิทยากรก็ให้ฝึกปฏิบัติ Infographic โดยเริ่มจากงานง่ายๆ ตามต้นฉบับเพื่อให้เข้าใจถึงขั้นตอนในการทำมากขึ้น ด้วยการใช้โปรแกรม Piktochart ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสะดวกสบาย และเหมาะกับสมัยปัจจุบัน เพราะแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้แล้ว ไม่ต้องบันทึกลงเครื่องคอมพิวเตอร์

ผู้เข้าอบรมต่างเร่งมือทำ Infographic ตามต้นฉบับ
ส่วนในช่วงบ่าย วิทยากรได้ให้นักศึกษาทำ Infographic ที่มีความซับซ้อนและมีองค์ประกอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งมี 2 ชิ้นงาน งานชิ้นแรกเป็น Infographic ที่นำเสนอข้อมูลทั่วไปของประเทศไทย อาทิ ประชากร เมืองหลวง ค่าเงิน เป็นต้น ส่วนงานชิ้นที่ 2 เป็น Portfolio Infographic นำเสนอข้อมูลส่วนของนักศึกษา อาทิ ชื่อ ที่อยู่ ความสามารถพิเศษ และคติประจำใจ เป็นต้น เป็นการฝึกทำด้วยการออกแบบ Infographic ของตนเองขึ้นมา

นอกจากสอนการทำ Infographic และวิทยากรยังได้สอนเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน เช่น การทำ QR code การตัดภาพเพื่อนำมาใช้ใน Infographic การทำให้ Link จาก Website มาในรูปแบบย่อๆ ช่วงสุดท้ายของการจัดอบรมได้มีการให้นักศึกษาส่งผลงานของตน และให้ผู้เข้าร่วมทุกคน Vote เพื่อหาผู้ชนะ ซึ่งมีรางวัลแก่ผู้ชนะและรองชนะในอันดับต่างๆ อีกด้วย

ผู้เข้าอบรมกำลังทำสถิติเกี่ยวกับประชากรในประเทศไทย

ผู้ชนะในการทำ  Infographic แนะนำประเทศไทย

ในปัจจุบันการทำงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรต่าง ๆ การจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอและเผยแพร่นับว่ามีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากการดำเนินงานของทุกองค์ล้วนจะมีการประชาสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และเนื้อหาที่ดีจะไม่สามารถทำให้ผู้อ่านสนใจได้เลยหากไม่ใช้เทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจ ข้อมูลประเด็นสำคัญจะถูกมองข้ามหากยังเผยแพร่เป็นตัวหนังสือและพื้นสีขาวโล่ง ๆ ที่ไม่ชวนมอง                                                                                                   

ฉะนั้นแล้ว การนำองค์ความรู้หรือข้อมูลที่มีมาจัดทำเป็นแผนภาพ ใส่เฉพาะข้อความที่เป็นใจความสำคัญ รวมทั้งใช้สัญลักษณ์ประกอบ เพื่อให้เนื้อหากระชับและมีรายละเอียดครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และตอบสนองกับชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน Infographic จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะกับการนำมาใช้เพื่อผลิตงานนำเสนอเพื่อเผยแพร่

จากความสำคัญที่กล่าวมาในข้างต้น ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จึงจัดให้มีการอบรมเพื่อเสริมทักษะด้านนี้แก่นักศึกษาขึ้น ความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมากแก่ตัวนักศึกษาเองทั้งในการเรียนและการทำงานในอนาคต รวมทั้งสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดเพิ่มเติม เพื่อที่จะเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพและสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต













No comments:

Post a Comment