ISAN-NESS นิทรรศการสู่ความเป็นอีสาน

ISAN-NESS สู่ความเป็นอีสาน เกิดจากความตั้งใจของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภายใต้การควบคุมดูแลของ อาจารย์ ดร.จิราธร ชาติศิริ นักศึกษาได้ร่วมกันสร้างสรรค์และถ่ายทอดความเป็นอีสานในหลากหลายแง่มุม ประกอบด้วย คนอีสาน วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และครัวอีสาน จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤษภาคม 2562 ณ อาคารเรียนรวมและพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐาน ชั้น 2 ห้อง Social Space by KKU Library เปิดเข้าชมในเวลา 09:00-16:00 น.



เริ่มวันแรก วันที่ 13 พฤษภาคม 2562  เวลา 09:30 น. เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานจนถึงเวลา 10:00 น. เป็นพิธีเปิดนิทรรศการซึ่งได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.เวียงคำ ชวนอุดม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้โอวาท จากนั้นร่วมรับชมการแสดงในชุดการแสดงที่มีชื่อว่า “เซิ้งกระติ๊บ” และร่วมถ่ายภาพกับนักศึกษาและแขกผู้มาร่วมงานเพื่อเป็นที่ระลึก พอถึงเวลา 10:25 น. เสร็จจากพิธีเปิด ท่านประธานและแขกผู้มีเกียรติได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการโดยมีนักศึกษาที่ประจำแต่ละซุ้มเป็นผู้บรรยายแนวคิดในการนำเสนอให้ทราบ โดยรายละเอียดของนิทรรศการมีดังต่อไปนี้


ISAN-NESS สู่ความเป็นอีสาน เป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นอีสานผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่นักศึกษาได้ทำการศึกษารวบรวมผ่านกระบวนการคิดและรังสรรค์ผลงานไว้ในนิทรรศการแห่งนี้ ซึ่งแบ่งความเป็นอีสานออกเป็น 5 โซน ดังนี้


โซนที่ 1 ตัวตนฅนอีสาน โซนนี้เป็นการบ่งบอกตัวตนของคนอีสานผ่านคำพูดหรือคำอุทานซึ่งมีคำเรียกอีกหนึ่งอย่างคือ “พูดไทยซอดลาว” เป็นการพูดภาษาไทยกลางปนกับภาษาอีสานและคำอุทานที่เมื่อไหร่ที่พูดออกมารู้ทันทีว่านี้คือคนอีสานเช่น “เอ๊อะ” การหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯของคนอีกสานมาพร้อมกับวัฒนธรรมแปลกใหม่ซึ่งมุมมองของคนกรุงเทพฯมองว่า “มีเสน่ห์” ทั้งนี้ยังนำเสนอตัวตนของเมียฝรั่ง ซึ่งเดิมพวกเขาถูกมองว่าเป็น “เมียเช่า” ให้กับชาวตะวันตกในช่วงสงคราม แต่พวกเขากลับสร้างความศิวิไลซ์ในอีสาน


โซนที่ 2 เด่นดังวัฒนธรรมอีสาน เป็นการถ่ายทอดความเป็นอีสานผ่านตำนาน นิทาน เรื่องเล่าผสานกับความเชื่อและสร้างคติเตือนใจ ยกตัวอย่างเช่น ตำนานท้าวแดงและนางไอ่คำ ศึกการแข่งขันบั้งไฟเพื่อแย่งชิงสาวงามที่เลื่องลือไปทั่วแคว้นจนเกิดเป็นประเพณีบุญบั้งไฟในปัจจุบัน ตำนานเหล่านี้ยังคงได้รับการถ่ายทอดผ่านบทเพลงและหมอลำเพื่อดึงดูดความสนใจและไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้ยังนำเสนอถึงการแต่งกายที่ทำจากวัสดุท้องถิ่นเช่น ผ้าย้อมคราม ซึ่งปัจจุบันผ้าครามได้รับความนิยมและถูกทำให้มีมูลค่ามากขึ้นโดยการย้อมลายแบบใหม่ที่ทันสมัยและออกแบบเป็นชุดในพิธีที่สำคัญเช่น ชุดแต่งงาน เห็นได้ว่าวัฒนธรรมอีสานถูกปรับเปลี่ยนตามความยุคสมัยเพื่อไม่ให้สูญหายและเป็นการสร้างคุณค่า


โซนที่ 3 ความเชื่อ สิ่งเหนือธรรมชาติยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานมาตั้งแต่อดีต เช่น ผี นาค รวมถึงการสัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อ ตามคำที่ว่า “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” แม้อาจจะดูเหมือนงมงายแต่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของคนอีสานได้เป็นอย่างดีจนปัจจุบันความเชื่อถูกนำมาใช้เป็นสินค้า เช่น รูปปั้นนาค ที่ใช้เป็นเครื่องประดับและเครื่องบูชาภายในบ้านและสถานที่สำคัญทางศาสนา ส่วนความเชื่อกับแฟชั่นเช่น การสัก เดิมการสักเป็นการลงอาคมเพื่อใช้ในป้องกันตัวเองขณะออกรบแต่ปัจจุบันการสักได้รับความรับความนิยมโดยการออกแบบลวดลายให้มีความทันสมัยตามแฟชั่น


โซนที่ 4 วิถีชีวิต วิถีอีสาน นำเสนอการดำรงชีวิตของชาวอีสานกับความผูกพันกับน้ำตั้งแต่ความเชื่อพื้นบ้านเกี่ยวกับพญาแถนผู้บันดาลฝน จนกระทั่งการตั้งชื่อหมู่บ้านที่มีคำว่า “น้ำ” ผสมอยู่ด้วย การสร้างบ้านเรือนหรือ “เฮือน” ของชาวอีสานนั้นเป็นลักษณะยกใต้ถุนสูงเพื่อเลี้ยงสัตว์ ตัวบ้านทำจากไม้ ซึ่งมีอยู่น้อยมาก ในปัจจุบันวิถีอีสานถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ที่ตีแผ่ชีวิตชาวอีสาน เช่น ไทบ้านเดอะซีรีย์ เป็นต้น โดยบริบททั่วไปของหมู่บ้านในภาคอีสานนั้นอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การเข้ามาของหนังหรือภาพยนต์เป็นที่น่าสนใจ มาในรูปแบบของรถฉายหนังเมื่อถึงฉากเด่นๆ จะพักโฆษณาเพื่อยาขายซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน เมื่อขายได้ตามยอดจึงจะทำการฉายต่อ


โซนที่ 5 แซ่บนัวครัวอีสาน นำเสนอลักษณะอาหารการกินของคนอีสานที่นิยมทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ซึ่งคนอีสานสามารถกินกับผลไม้ได้เช่น มะม่วง กล้วย ส่วนรสชาติจะเน้นอาหารรสจัด เช่น ส้มตำ ซึ่งการทำส้มตำมีการปรับปรุงและดัดแปลงไปโดยการใส่วัตถุดิบใหม่ๆ ที่เรียกว่า “ฟิวชั่น” แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้คือ น้ำปลาร้าหรือปลาแดก ปัจจุบันปลาร้าถูกยกระดับให้มีราคาแพงและเข้าถึงง่าย มื้อมีอาหารหลักก็ต้องมีอาหารรอง เพื่ออรรถรสในการรับประทานคือ แมลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย ได้แก่ ตั๊กแตน ดักแด้ จิ้งหรีด ในปัจจุบันอาหารถูกแปรรูปให้สะดวกต่อการซื้อขายและรับประทานมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

นิทรรศการจัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2562 ด้วยความตั้งใจของนักศึกษาภายใต้ความดูแลของอาจารย์ผสานแนวความคิด ผลิตผลงานนิทรรศการ ISAN-NESS ซึ่งความเป็นอีสานบางอย่างที่คุณยังไม่เคยรับรู้ ยังรอให้คุณได้มาสัมผัสและเยี่ยมชมกันนะครับ













































No comments:

Post a Comment