โครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามอดีตเมืองอาณานิคมตะวันตก ณ เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย

หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้ดำเนินโครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามอดีตเมืองอาณานิคมตะวันตก ณ เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซียขึ้น ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 18 คน และอาจารย์ 7 ท่านเข้าร่วมโครงการ

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามของอาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตร ในอดีตเมืองอาณานิคมตะวันตกในเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้นักศึกษาเกิดประสบการณ์ตรงในการสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ตลอดจนเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนปัจจุบันกับการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนชาวปีนัง ประเทศมาเลเซีย

วันที่ 18 มกราคม 2562 ทางหลักสูตรฯ ได้พานักศึกษาเข้าศึกษาตามสถานที่สำคัญต่างๆ ได้แก่

วัด Kek Lok Si หรือ วัดเขาเต่า เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในวัดที่ขึ้นชื่อในปีนัง  โดยวัด Kek Lok Si นั้นมีองค์เจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ ที่ผู้คนนิยมไปกราบไหว้กัน ประดิษฐานอยู่บนเนินสูงสุดของวัด โดยมีระยะทางสูงจากพื้นดินประมาณเกือบ 2 กิโลเมตร


จากนั้นพวกเราเดินทางไปยังจุดชมวิวเกาะปีนังที่สวยงาม นั่นคือ Penang Hill ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในปีนัง เป็นจุดชมวิวยอดฮิตที่ต้องมาเยือน ซึ่งต้องเดินทางขึ้นเขาที่สูงชันด้วยรถรางไฟฟ้า บนยอดเขาสามารถมองเห็นตัวเมืองจอร์จทาวน์ เมืองหลวงและเป็นเมืองมรดกโลกของรัฐปีนัง ที่ถึงแม้จะดูแออัดแต่ก็มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี หลังจากการสำรวจ Penang Hill เสร็จสิ้น คณะได้ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร De Happy หลังจากรับประทานอาหารค่ำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เข้าพักที่ Hotel Sentral Penang


วันที่ 19 มกราคม 2562 

คณะนักศึกษาและอาจารย์ได้เดินทางไปยัง Universiti Sains Malaysia (USM) เพื่อศึกษาดูงาน โดยมี Dr. Abdul Rais Abdul Latiff  ประธานหลักสูตรปริญญาตรี School of Social Sciences และ Dr. Paramjit ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา แห่งคณะสังคมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และเลี้ยงอาหารเช้าให้กับคณะ จากนั้นจึงแนะนำตัวเพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะแนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและหลักสูตรต่างๆ และการเรียนการสอนของคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเน้นการให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงพื้นที่และเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน พร้อมทั้งพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจ อื่นๆ เช่น เรื่อง HIV ในมาเลเซีย อาจารย์และนักศึกษาจากหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้ให้ความสนใจร่วมพูดคุยสอบถาม หลังจากจบการพูดคุยและแลกเปลี่ยนแล้ว ได้บันทึกภาพร่วมกัน จากนั้นจึงไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่อไป


อาจารย์ทั้งสองท่านของคณะสังคมศาสตร์ได้นำคณะทัศนศึกษาไปเยี่ยมชมที่ พิพิธภัณฑ์ของคณะสังคมศาสตร์ Muzium & Galeri Tuanku Fauzizh, Universiti Sains Malaysia ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมวัตถุสำคัญและมีคุณค่าตั้งแต่อดีตจนถึงงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยมีนักศึกษาเป็นคนจัดการพิพิธภัณฑ์เอง เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ที่มาเข้าชมมีทั้งนักศึกษา และบุคคลทั่วไป โดยผลงานในพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นผลงานที่นักศึกษาสร้างขึ้น จึงมีความหลากหลายศาสตร์ความรู้ และจัดแสดงตามลำดับพัฒนาการความรู้จากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคอวกาศ


หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว คณะของเราเดินทางไปเยี่ยมชม คฤหาสน์สีฟ้า (Blue Mansion) หรือ เฉิงฟัสซี ซึ่งเป็นคฤหาสน์เก่าแก่ของเฉิงฟัสซี คหบดีชาวจีนฮกเกี้ยน โดยตัวคฤหาสน์มีความโดดเด่นด้วยการทาสีฟ้าที่ด้านนอก ภายในตกแต่งแบบจีนผสมผสานกับยุโรปอย่างกลมกลืน ทั้งนี้คฤหาสน์หลังนี้ยังได้รับรางวัล  UNESCO’s Most Excellent Project Asia Pacific Heritage Awards ในปี 2000 อีกด้วย


หลังจากนั้นทางคณะได้เดินทางไปยัง ป้อมปราการคอร์นเวลลิส (Fort Cornwallis) ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจประวัติศาสตร์เข้ามาเยี่ยมชมในย่านจอร์จทาวน์ เนื่องจากป้อมปราการนี้ตั้งชื่อตาม ชาร์ล คอร์นเวลลิส  ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำเมืองเบงกอลในช่วงปลายทศวรรษที่ 1700 มีคลังเก็บอาวุธ และปืนใหญ่โบราณประจำตามจุดต่างๆ โดยรอบป้อม


สถานที่ต่อไปคือ บ้านสกุลคู (Khoo Kongsi) เป็นบ้านเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1890  เป็นบ้านประจำของชาวจีนฮกเกี้ยนตระกูลคู ซึ่งเป็นตระกูลที่ร่ำรวย มีกิจการต่างๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน และก่อตั้งสมาคมสกุลคูขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน และช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ศาลเจ้า เปิดให้ผู้คนได้เข้ามาชม มีป้ายชื่อบรรพบุรุษ ป้ายเชิดชูเกียรติ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงความเป็นมาของตระกูล รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น


จากนั้นไปเยี่ยมชม ชุมชนชาวประมง Chew Jetty แหล่งชุมชนประมงที่เก่าแก่ของปีนัง เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวประมงบนเกาะปีนัง ลักษณะอาคารบ้านเรือนที่สร้างริมทะเล ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่ง มีจุดถ่ายภาพที่สวยงามริมทะเล


ต่อด้วยไฮไลท์ของปีนังคือ สตรีทอาร์ต (Street Art) ถนนสายศิลปะ เป็นถนนคนเดินที่ขายสินค้าที่ระลึกมากมายตลอดเส้นทาง การแสดงงานศิลปะต่างๆ และยังใช้ผนังบ้านเรือนริมทางวาดภาพศิลปะขนาดใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพได้เป็นระยะๆ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินหลากหลายคนที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานบนผนัง


จบกำหนดการทัวร์ในวันที่ 19 มกราคม 2562 ด้วยการรับประทานอาหารค่ำที่ร้าน YI XIANG BAK KU TEH

วันที่ 20 มกราคม 2562

ในเวลา 8.30 น. นักศึกษาสาขาเอเชียตะวันอกเฉียงใต้พร้อมคณะอาจารย์ออกเดินทางเพื่อไปยังวัดไทยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในปีนัง คือ วัดไชยมังคลราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2388 ที่สำคัญคือมีวิหารประดิษฐานพระพุทธปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ (พระพุทธชัยมงคล) 


อีกวัดที่อยูตรงกันข้าม เป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งคือ วัดธรรมิการาม เนื่องจากเป็นวัดพม่าแห่งเดียวในปีนัง โดยมีศิลปะที่สวยงามในรูปแบบเฉพาะของพม่า มีพระประธานขนาดใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย 


หลังจากการสักการะขอพรพระที่วัดทั้ง 2 แห่งแล้ว คณะได้เดินทางไปร้านของฝากที่ขึ้นชื่อของปีนังนั้นคือ ร้าน Harrison Signature เป็นร้านขายช็อคโกแลตคุณภาพดี และเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของปีนัง จากนั้นไปยังร้าน Tean Ean Local Products ซึ่งขายสินค้าท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ คือ ขนมเปี๊ยะ ที่มีความอร่อยเฉพาะตัวของพื้นถิ่นและราคาไม่แพงมากนัก


จากนั้นคณะทัศนศึกษาได้เดินทางมายังสนามบินนานาชาติปีนังเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงบ่าย


โดยภาพรวมปีนังซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ มีสะพานเชื่อมกับประเทศมาเลเซียที่เป็นแผ่นดินใหญ่ เวลาของที่นี่เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง จะค่ำช้ากว่าประเทศไทย ปีนังถือว่าเป็นเกาะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะ จอร์จทาวน์ เมืองหลวงของรัฐปีนัง เป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก เมื่อปี 2008 

นอกจากนี้แล้วยังมีความแตกต่างและความหลากหลายในด้านต่างๆ จากที่ได้สังเกตเห็น ได้แก่ ประชากร ซึ่งในเมืองปีนังนั้นมีประชากรที่มีหลากหลายเชื้อสาย ได้แก่ จีน มลายู อินเดีย และอื่นๆ ตามลำดับ มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ รองลงมาคือภาษาถิ่น ที่มีหลากหลายทั้ง จีน มลายู และอินเดีย แต่ละเชื้อสายก็จะนับถือศาสนาที่ต่างกัน มีทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ จึงทำให้เราได้พบเห็นศาสนสถานที่แตกต่างกัน 

ในด้านอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารจีนและอาหารท้องถิ่น มีรสชาติที่แตกต่างกัน อาหารราคาถูก ขนมท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อที่มาแล้วไม่ควรพลาดคือ ขนมเปี๊ยะ และผลไม้ที่ได้รับความนิยมเมื่อเราเดินไปในที่ต่างๆ ในปีนังก็จะเจอคือ ทุเรียน 

อากาศที่ปีนังบริสุทธิ์ ตอนกลางวันจะค่อนข้างร้อนแต่ตอนกลางคืนอากาศเย็นสบายในช่วงเดือนมกราคม มีลมทะเลสามารถเดินเล่นชมเมืองได้ การคมนาคมเส้นทางรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินรถทางเดียว (one way) บ้านเรือนจะเป็นทั้งแฟลต คอนโดมิเนียม ส่วนบ้านเดี่ยวค่อยๆ ลดพื้นที่ลง ในเมืองปีนังนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยงทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ศิลปะ จนถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัย แม้ปีนังจะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ แต่ก็เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ทำให้พวกเราประทับใจ

นอกเหนือจากการได้สัมผัส เรียนรู้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นความต่อเนื่องจากทริปที่ผ่านมา  (โครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามพื้นที่กัมพูชา) จากวัฒนธรรมในช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 มาสู่วัฒนธรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่คาบสมุทรและหมู่เกาะ เราได้เรียนรู้ถึงความเปลื่ยนแปลง พัฒนาการทางวัฒนธรรมในพื้นที่ แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็ผสมผสาน และอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว การเดินทางครั้งนี้ได้ให้ประสบการณ์ที่มีคุณค่า โดยเฉพาะการเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิด ยอมรับและเข้าในวัฒนธรรมที่แตกต่าง อันเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพวกเราที่จะเป็นนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่มีคุณภาพในอนาคต



































































1 comment:

  1. ขอบคุณคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ที่จัดโครงการทัศนศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะทำให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เปิดโลกทัศน์จากพื้นที่จริงอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก ในพื้นที่ความรู้หลากรูปแบบทั้งพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การติดต่อสื่อสารและการจัดการแหล่งเรียนรู้อย่างเป็นระบบในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการได้เห็นแนวทางการนำทุนทางประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมอันหลากหลายของปีนังขึ้นมาใช้ประโยชน์ในบริบทการท่องเที่ยวและการสื่อสารในยุคโลกไร้พรมแดนอย่างชาญฉลาด หวังว่าจะมีโอกาสร่วมเดินทางเพื่อเรียนรู้วิถีสังคมวัฒนธรรมที่ขยายกว้างและไกลออกไปอีกนะคะ

    ReplyDelete